
กรมประมงขานรับนโยบายรัฐมนตรีเกษตรฯ และความต้องการของพื้นที่
เร่งเพาะพันธุ์ “ปลากุเรา” ปล่อยคืนแม่น้ำตากใบ หนุนส่งเสริมการผลิตสินค้า GI เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุบชีวิตชุมชนชายแดนใต้
กรมประมงเร่งขับเคลื่อนโครงการ “เพาะปลากุเราปล่อยลงแม่น้ำตากใบ” หลังพบปริมาณผลผลิตในธรรมชาติลดลง สวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น หนุนฟื้นฟูแหล่งวัตถุดิบรองรับการผลิตและแปรรูป “ปลากุเราเค็ม” ซึ่งเป็นสินค้า GI เฉพาะถิ่นของอ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ชุมชน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ที่ได้มุ่งสร้างรายได้ในภาคการเกษตร โดยใช้หลักการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “ปลากุเรา” จัดเป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ Polynemidae พบการแพร่กระจายในเขตอินโดแปซิฟิกตั้งแต่อ่าวเปอร์เซียถึงออสเตรเลีย ไต้หวัน และทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยมีรายงานพบ 8 สกุล รวม 41 ชนิด สําหรับในประเทศไทยพบ 2 สกุล 17 ชนิด ซึ่งชนิดที่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ Eleutheronema tetradactylum และ Polydactylus macrochir พบการทำการประมงทั่วไปในพื้นที่จ.ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และพบมากที่จังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งอำเภอตากใบและแม่น้ำตากใบ ซึ่งเป็นสายพันธุ์กุเราหนวดสี่เส้น (Eleutheronema tetradactylum)
โดยชาวประมงจะใช้อวนลอยในการจับและนำมาแปรรูปเป็น “ปลากุเราเค็ม” ที่มีชื่อเสียงในด้านรสชาติว่าเหนือกว่าปลาเค็มทั่วไป จนได้รับสมญาว่าเป็น “ราชาแห่งปลาเค็ม” อีกทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,300 –1,600 บาท ส่งจําหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงและผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำในพื้นที่เป็นจํานวนมาก ภายใต้โครงการตากใบโมเดล และด้วยความต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรปลากุเราในแม่น้ำตากใบมีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผลผลิตในแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายให้กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลนราธิวาสเร่งดำเนินโครงการ “เพาะปลากุเราปล่อยลงแม่น้ำตากใบ” ในปีงบประมาณ 2567 เพื่อเพิ่มปริมาณในแหล่งน้ำธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์เพียงพอต่อความต้องการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์สำหรับเป็นวัตถุดิบป้อนสู่กระบวนการแปรรูปปลากุเราเค็ม ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยระยะแรกจะดำเนินการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ และนำมาขุนเลี้ยงจนได้ขนาด จากนั้นจะทำการเพาะพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติ เมื่อได้ไข่ปลาจะทำการเพาะฟักและอนุบาลจนได้ขนาด 1.5-2.0 เซนติเมตร จึงจะนำไปปล่อยลงสู่แม่น้ำตากใบ โดยตั้งเป้าหมายไว้ 100,000 ตัวต่อปี
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินโครงการเพาะเลี้ยงปลากุเราและปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นกิจกรรมที่เพิ่มผลผลิตและเมื่อปล่อยให้ลูกพันธุ์ปลากุเราเติบโต เป็นพ่อแม่พันธุ์สามารถสืบพันธุ์ วางไข่ ก็จะสามารถเพิ่มปริมาณปลากุเราขึ้นมาทดแทนได้ ซึ่งจะทำให้ชาวประมงในจังหวัดนราธิวาสสามารถจับปลากุเราจากธรรมชาติได้มากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนทำให้ผู้แปรรูปสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตปลากุเราเค็มอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้บริโภคอีกด้วย