
ในวันสนทนากับ’ดร.วิรไท สันติประภพ’ ได้คุยกันหลากหลายประเด็นทั้งเรื่องส่วนตัว หน้าที่การงานและมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้ว่าลูกชายพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ คนนี้ มีภารกิจมากมายทั้งทางโลกและทางธรรม หลังพ้นเก้าอี้ผู้ว่าฯแบงค์ชาติคนที่ 20 เมื่อปลายปี 2563
ดร.วิรไทเกริ่นว่า ตอนพ้นตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อยากทำอะไรที่ทำให้ชีวิตสมดุล และตรงกับความสนใจมากขึ้น เลยกลับไปช่วยในมูลนิธิที่เคยทำงานอยู่ ตั้งแต่ก่อนเป็นผู้ว่าธปท. มี 3 มูลนิธิคือ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ไปทำหน้าที่ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิที่2 เป็นประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิที่3 กรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นมา 12 ปีแล้ว ทั้ง 3 มูลนิธินี้เป็นกรรมการมาโดยตลอด เป็นงานการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ที่สนใจ และเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ
ในการพัฒนาเชิงพื้นที่นั้นนำพื้นที่เป็นตัวตั้ง ทำงานในเชิงบูรณาการ ทำให้เห็นถึงข้อจำกัดในการทำงานของหน่วยงานราชการ และข้อจำกัดด้านงบประมาณของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด่านหน้า เรื่องเหล่านี้เป็นประโยชน์ ทำให้ตอนที่เข้าไปอยู่ในแบงก์ชาติสามารถเข้าใจมิติของปัญหาต่างๆ ได้เห็นภาพชัดมากขึ้น
กลุ่มที่ 2 เป็นงานด้านการศึกษา โดยเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)ผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานคณะกรรมการกำกับการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัย รวมทั้งช่วยอยู่ในคณะกรรมการของบางคณะที่มช. และยังเป็นกรรมการอำนวยการของวชิราวุธวิทยาลัย
กลุ่มที่3 เป็นงานที่ใช้ประสบการณ์ทางด้านธุรกิจเงินช่วยบริษัทจดทะเบียน 3 แห่ง อาทิ กรรมการปตท.สผ. นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการอีกหลายชุดที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายด้านดิจิทัล
ทั้งนี้เพื่อให้ชีวิตมีความสมดุลมากขึ้น และมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น
สำหรับคำว่า’ครอบครัว’นั้น เจ้าตัวอธิบายเพิ่มเติมว่า “ผมไม่ได้แต่งงาน ช่วงที่ผ่านมามีเวลาให้คุณพ่อ-คุณแม่น้อยมาก ขณะที่ท่านอายุมากแล้ว สุขภาพก็ไม่ค่อยดี ตอนนี้คุณพ่ออายุ 88 ปีแล้ว ท่านก็มีโรคประจำตัวหลายอย่าง”
กับข้อสงสัยที่ว่า ดูภาพลักษณ์ภายนอกเหมือนเป็นคนเครียด ดร.วิรไทตอบว่า “ผมดูเป็นคนจริงจังมากกว่าเป็นคนที่เครียด เรื่องเครียดคงเป็นจังหวะงานที่ต้องเครียด แต่เราต้องมาจัดการตัวเองว่าจะบริหารจัดการตัวตนอารมณ์ของเราอย่างไร เพราะตำแหน่งผู้ว่าฯแบงก์ชาติ จะให้มาหัวเราะสนุกสนานคงจะไม่ใช่ มันก็มีบทบาทที่แต่ละคนต้องเล่นไปตามบริบทตามตำแหน่ง ส่วนเรื่องงานอดิเรก ช่วงหลังอาจไม่มีอะไรที่ชัดเจนก็อ่านหนังสือ เล่นกีฬา และสนใจเรื่องศิลปะ ช่วงหลังมีความสนใจหลากหลาย แล้วแต่ใครจะชวนทำอะไร ถ้าตรงกับความสนใจก็ทำ”
อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติพูดถึงมิติด้านศาสนาว่า พุทธศาสนามีความสำคัญมากเพราะเป็นเรื่องของการพัฒนาจิตใจ ทำให้มีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจที่จะต้องสามารถรับแรงกดดัน แรงปะทะหลากหลายด้านได้ ตอนอยู่แบงก์ชาติได้ครูบาอาจารย์หลายท่านที่เมตตา ให้สติ และให้ปัญญาในเรื่องของการทำงาน อาจสรุปว่าการทำงานในโลกปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ถ้ามีประสบการณ์มีโอกาสในการทำงานหลากหลายด้าน จะเห็นว่ามันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
เรื่องหนึ่งที่มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสกำลังอยู่ คือหลังจากที่ไปกราบสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ท่านบอกว่ามาช่วยกันทำให้ประเทศไทยเป็นรมณีย์ ให้มีความรื่นรมย์ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เลยกลับมาคิดว่า ปัญหาที่หลายองค์กรเผชิญอยู่ทุกวันนี้ คือเรื่องอุณหภูมิในองค์กร เพราะพนักงานทุกคนต้องเจอแรงกดดัน ตัวบริษัทเองก็เจอแรงกดดัน โดย เฉพาะในสภาวะโควิด กระทบกับรายรับ รายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น พนักงานก็มีครอบครัวที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางครอบครัวมีญาติพี่น้องตกงานเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น ลูกจะไปโรงเรียนก็ไม่ได้ ตัวเองก็ต้องทำงานที่บ้าน เป็นความเครียดที่เกิดขึ้น
อันนี้เป็นตัวอย่างของงานทางด้านทางพุทธศาสนา ที่สามารถจะเข้าไปช่วยกัน สร้างความรื่นรมย์สร้างความเป็นรมณีย์ ให้กับองค์กรต่างๆ คือเป็นองค์กรที่ทำให้แต่ละคนเข้าใจตัวเอง เข้าใจชีวิต ซึ่งหลักพุทธศาสนาเป็นหลักที่สำคัญมาก ที่ช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจชีวิตของเรา และเข้าใจชีวิตของคนอื่น เหมือนสร้างความเห็นอกเห็นใจกัน และร่วมกันแก้ปัญหา
ตอนที่อยู่แบงก์ชาติใช้เรื่องนี้ค่อนข้างมาก ทำอย่างไรถึงจะทำให้องค์กรมีพลัง ลดความขัดแย้งในองค์กร และสร้างพลังบวก โดยเฉพาะน้องๆคนรุ่นใหม่ที่มีพลังเยอะมาก อาจมีความเป็นปัจเจกสูง เมื่อมาอยู่ร่วมกันต้องทำในลักษณะเพิ่มทักษะชีวิต ซึ่งไม่ว่าศาสนาไหนก็ตาม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจ เกี่ยวกับความเข้าใจชีวิต จะช่วยทำให้องค์กรมีพลัง
-นำหลักธรรมคำสอนข้อไหนมาใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด
“อันแรกเลยผมถือเป็นกิจวัตร ต้องนั่งสมาธิทุกวัน ช่วงเช้าก่อนเริ่มทำอะไรจะสวดมนต์นั่งสมาธิ ถ้าวันธรรมดาประมาณ 40 นาที ถ้าวันเสาร์อาทิตย์จะมากหน่อย หลายคนบอกว่าตอนทำงานประจำเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติหาเวลาที่ไหนมานั่งสมาธิ ผมคิดว่าถ้าใครที่ได้มีโอกาสภาวนาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นประโยชน์ของการภาวนา หากไม่ภาวนาจะทำให้รู้สึกว่าเราขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่สามารถรับกับปัญหาต่างๆที่หลั่งไหลเข้ามาทุกวัน และมีแรงกดดัน ซึ่งต้องใช้สมาธิใช้สติในการตัดสินใจในการจัดการปัญหาเหล่านั้น เหมือนกับเราออกกำลังกาย”
“ถ้าคนเราออกกำลังกายแล้วบอกว่าหยุดออกกำลังกาย ไม่มีเวลาออกกำลังกายก็คงไม่ใช่ จะรู้ทันทีว่าสภาพร่างกายมันจะอ่อนแอลง คนเราออกกำลังกายมากแต่เราไม่ออกกำลังใจ พุทธศาสนาทำให้เข้าใจชีวิตว่าชีวิตประกอบด้วย 2 อย่างกายกับใจแค่นั้นเอง แล้วเราใช้เวลาดูแลรักษากายเยอะมาก แต่อาจมองข้ามเรื่องของใจ ไม่ว่าศาสนาไหนก็ตามมันเป็นเรื่องของจิตเรื่องของใจ สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องของกาย ถ้าเราศึกษาในเรื่องเหล่านี้ มีโอกาสในเรื่องของออกกำลังใจไปพร้อมๆกับออกกำลังกาย จะช่วยทำให้เราสามารถยอมรับความจริงได้มากขึ้น ทำให้อยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น แล้วก็มีสมาธิ มีสติในการจัดการปัญหาต่างๆที่เข้ามา ถ้ากลับไปถามว่าหลักไหนสำคัญที่สุด ผมว่าเรื่องกับอยู่กับปัจจุบัน เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นการเข้าใจความเป็นจริงของโลก”
ดร.วิรไทบอกว่า จากการทำงานมิติทางสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงพื้นที่กับทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและมูลนิธิปิดทองฯ และการทำงานด้านพุทธศาสนา ซึ่งได้ปฏิบัติด้วยนั้น ส่งผลให้การทำหน้าที่ผู้ว่าแบงก์ชาติเป็นไปด้วยดี มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลมากขึ้น เข้าใจความเป็นจริงของบริบทของสังคมไทย และปัญหาต่างๆของคนไทย โดยเฉพาะปัญหาของคนในระดับฐานรากที่ต้องเผชิญ รวมถึงข้อจำกัดของการทำงานระบบราชการในพื้นที่
-ห่วงใยปัญหาบ้านเมืองส่วนไหนบ้าง และคิดว่ามีแนวทางแก้อย่างไร
“ผมว่าโจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในสังคมไทย ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ ที่ผ่านมาอาจพูดกันเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีรายได้มากกับคนมีรายได้น้อย คนรวยกับคนจน เป็นความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ต่อมาก็พูดถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สิน ดูการถือครองที่ดิน โดยมีคนร่ำรวย 1% ของประเทศไทย เทียบกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งความแตกต่างเรื่องการถือครองทรัพย์สินก็สูงมากขึ้น นี่คือความเหลื่อมล้ำที่พูดกันอยู่หรือที่คุ้นชินกันอยู่ แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเพิ่มปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ คือ ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส อันนี้อันตราย เพราะจะมีผลต่อเนื่องไปในระยะยาว จะทำให้สังคมมีความเปราะบางมีความอ่อนไหวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโอกาสเข้าถึงในการศึกษาที่ดี โอกาสในการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งเรื่องสวัสดิการของสังคมต่างๆ โอกาสในการสร้างความก้าวหน้าในอาชีพ โอกาสของธุรกิจขนาดเล็กๆที่จะสามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้อย่างเป็นธรรม”
“สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบสังคมระบบเศรษฐกิจ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆความเหลื่อมล้ำทางโอกาส จะเกิดปัญหาจนข้ามรุ่น คือพ่อแม่จน ลูกก็จะจน หลานก็จะจนเพราะไม่มีโอกาสที่จะก้าวขึ้น หรือยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้เพราะไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ดีได้”
“การจะขับเคลื่อนจะปฏิรูปประเทศจะทำไม่ได้เลยเพราะว่าจะทำเรื่องอะไรก็ตาม มีคนได้ประโยชน์เสียประโยชน์ และมักจะมีแนวโน้มที่คนรวยอยู่แล้ว อาจได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น และจะมีประเด็นเรื่องความเห็นต่างกันไปหมด ฉะนั้นเรื่องใหญ่ๆอย่างเรื่องการปฏิรูปประเทศ ยกระดับความสามารถในแข่งขันของสังคมเศรษฐกิจไทยโดยรวม ทำได้ค่อนข้างยากมาก ซึ่งเรื่องนี้คิดว่าเป็นผลข้างเคียงจากปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่มีสูงมากเลยทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิด เกิดความเห็นต่างแล้วทุกคนก็จะต้องคำนึงถึงว่าใครได้ใครเสีย ทำให้ขับเคลื่อนเรื่องสำคัญๆทำไม่ได้”
“ถ้าจะทำปัญหาเรื่องของโครงสร้าง เรื่องผู้กำกับดูแลมีบทบาทที่สำคัญ แต่บทบาทเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องมองหลายภาคส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลปฏิเสธไม่ได้เลย โจทย์สำคัญขณะนี้คือถ้าเราไม่จัดการให้ดี จะทำให้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำรุนแรงมากขึ้น แต่ถ้าจัดการได้ดีจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้”
ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นแล้วดร.วิรไทนำหลักธรรมมาปฏิบัติ ทั้งในขีวิตประจำวันและในหน้าที่การงาน
เรื่องโดย : ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง (ขอบคุณมติชนสุดสัปดาห์ )