
ผู้พิการเตรียมเฮ จุฬาฯ ประสานสปสช. ให้สิทธิ์ใช้เท้าเทียมไดนามิก คาดมีผลปีหน้า วช. – จุฬาฯ – มหิดล ส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ จ.เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 22 กค.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” คุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ฝีมือนักวิจัยไทย ให้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ร่วมส่งมอบเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ให้ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ รองคณบดีด้านวิจัยและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวแทนผู้พิการ ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ถนนอินทวโรรส ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ดร.วิภารัตน์กล่าวว่า ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. พ.ศ. 2563 – 2570 ได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติโดยหนึ่งในเป้าประสงค์ที่สำคัญคือการวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมดังนั้นโครงการนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ดังกล่าวจึงตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้พิการ ให้ได้รับโอกาสในการนำนวัตกรรมดังกล่าว ที่มีความปลอดภัย และได้รับมาตรฐานไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้บุคคลดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้อย่างมีคุณค่าสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งในภาคระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการได้ยกระดับขึ้น และเพื่อเป็นยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการ วช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” คุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ เพื่อมอบให้กับผู้พิการโดยไม่คิดมูลค่าเพื่อให้ผู้พิการได้มีโอกาสได้เข้าถึงนวัตกรรมที่ทันสมัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตกายอุปกรณ์เป็นวัสดุที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทยมีประสิทธิภาพ เทียบเท่าสากลและเหมาะสมกับลักษณะของผู้พิการแต่ละราย
ทั้งนี้ วช. ได้มอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ทั่วประเทศ จำนวน 200 ชุด โดยมอบให้โรงพยาบาลในกรุงเทพ 5 โรงพยาบาล และโรงพยาบาลในต่างจังหวัดได้แก่ ภาคใต้ 7 จังหวัด ภาคเหนือ 2 จังหวัด ภาคอีสาน 3 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 17 โรงพยาบาล โดยเท้าเทียมไดนามิกเอสเพสจะผลิตโดยบริษัท มุทา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ขึ้นทะเบียนสถานประกอบการผลิตและจดแจ้งผลิตภัณฑ์เท้าเทียมไดนามิกกับ อย. ขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะสามารถรับ Feedback ของผู้พิการที่ได้รับเท้าเทียมไดนามิกในโครงการนี้ด้วยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และประเมินผลในประเด็นต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มเติมการออกแบบตามความเหมาะสมต่อไป
ด้านรศ.ดร.ไพรัชกล่าวว่า กำลังประสานกับทางสปสช.เพื่อให้คนพิการสามารถใช้เท้าเทียมไดนามิกนี้ได้ คงจะใช้ได้ประมาณปีหน้า อย่างไรก็ตามตอนนี้สปสช.ก็ให้คนพิการใช้สิทธิ์ใส่ขาเทียมได้แต่ราคาถูกกว่านี้ ขณะที่เท้าเทียมไดนามิคุณภาพดีกว่า และราคาสูงกว่า ประมาณ3หมื่นกว่าบาท ทว่าคุณภาพเทียบเท่าของเมืองนอก