
พนมดงรักเป็นรอยต่อของสามประเทศคือลาว เขมรและประเทศไทย มีคนเรียกบริเวณสามประเทศให้เก๋ไก๋ว่า “สามเหลี่ยมมรกต”
ลำโดมใหญ่เป็นลำน้ำสายเดียวที่เมืองอุบลฯเป็นเจ้าของทั้งสายน้ำ ต่างกับลำน้ำมูลที่ต้นน้ำมาจากจังหวัดนครราชสีมาและลำน้ำชีที่ต้นน้ำมาจากจังหวัดชัยภูมิ แต่ทั้งหมดก็ร่วมไหลลงแม่น้ำโขงไปด้วยกัน
ด้วยความสะอาดของลำโดมใหญ่ที่มีฮิวมัสจากไม้บนหินทรายนี่แหละ จึงถูกกุ้งที่เรียกว่า “กุ้งก้ามขน” (Macrobrachium dienbienphuense) ใช้เป็นที่หากินและวางไข่บนต้นน้ำ จนเกิดปรากฎการณ์
กุ้งเดินขบวน!
กุ้งเหล่านี้เดินในบริเวณที่เรียกว่า.. “แก่งลำดวน” แก่งอันเกิดบนพลาญหินทรายในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า “ยอดโดม” บ้านแข้ด่อน ต.โมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน อำเภอซึ่งห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีไปประมาณ 120 ก.ม.หรือห่างจากอำเภอน้ำยืน 16 ก.ม. นั่นเอง
การว่ายและเดินทวนน้ำของกุ้งเหล่านั้นคล้ายๆกับปลาแซลมอนและอีกหลายๆปลาในบ้านเราว่ายขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำซึ่งพวกมันอาศัยอยู่นั่นเอง
การเดินเลียบหินที่เปียกชื้นเพื่อเลี่ยงกระแสน้ำแรงเกิดขึ้นในช่วงเดือนเดือนสิงหาและกันยายนของทุกปี จะมีมากให้คนเห็นก็ต่อเมื่อมีฝนตกหนักเหนือเทือกเขาพนมดงรัก
การตกหนักของฝนนั่นแหละที่ไปเติมน้ำลงในลำโดมใหญ่จนเอ่อท้นตลิ่ง ความแรงของน้ำดังกล่าวนั่นแหละทำให้กุ้งที่จะขึ้นไปหากินและวางไข่ว่ายทวนน้ำขึ้นไปง่ายๆไม่ได้ ต้องอาศัยโขนหินทรายเปียกๆริมตลิ่งไต่ไปลงในน้ำที่ไหลอ่อนกว่าเป็นช่วงๆไป
ผู้เขียนเคยไปในช่วงจังหวะที่มีน้ำไหลแรง จึงมีโอกาสได้เห็นกุ้งเดินบนโขดหินเปียกริมตลิ่งบริเวณแก่งลำดวนนับหมื่นนับแสนตัวเลยทีเดียว (ดูภาพประกอบ)
หลายคนอาจจะตั้งคำถาม…สัญชาติญาณชนิดไหนหนอจึงทำให้พวกมันกล้าขึ้นมาวางไข่ โดยไม่สนใจว่ามีคนกินกุ้ง (และเคยกินกุ้ง) จำนวนมากคอยส่องไฟจ้องดูพวกมันด้วยความมหัศจรรย์ใจ!
ที่สำคัญไม่ใช่มีการเดินทางไปวางไข่แต่ในช่วงเวลากลางคืน เจ้าหน้าที่ของอุทยานก็เคยเห็นขบวนกุ้งที่ว่าเดินบนหินสวนน้ำขึ้นไปในเวลากลางวันด้วยเช่นกัน!
ผู้เขียนเคยได้รับการบอกเล่าจากผู้จัดการโรงแรมลาวที่เป็นคนไทยว่า..ปรากฏการณ์นี้ก็มีบนเกาะแก่งสาขาของแม่น้ำโขงในเมืองลาวด้วยเช่นกัน เสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสไปดูในช่วงเวลาที่เขาบอก
แต่ใช่ว่ากุ้งที่บริเวณลำน้ำโดมจะมีแต่กุ้งก้ามขนเท่านั้น มันยังมีกุ้งฝอยหรือกุ้งนา กุ้งชฏา รวมอยู่ด้วย แต่กุ้งทั้งสองประเภทไม่ได้ว่ายสวนน้ำ เดินริมตลิ่งแบบกุ้งก้ามขน
ชาวบ้านแถวนั้นกินกุ้งไหม? หลายคนคงอยากรู้!
คำตอบก็คือกินกันทั้งนั้นแหละ แต่บริเวณที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดมและบริเวณแก่งลำดวนที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าอุบลราชธานี (สังกัดกรมอุทยานฯ) นั้นไม่มีชาวบ้านคนไหนจับไปกิน เพราะจะโดนเจ้าหน้าที่จับแน่นอน
กุ้งก้ามขนมีอยู่ทั่วไปในย่านน้ำโขงอยู่แล้ว แต่ที่มีรายงานครั้งแรกในประเทศเวียดนามโดย Dang and Nguyen ในปี พ.ศ.2515
กุ้งก้ามขนกระจายอย่างกว้างขวางตั้งแต่ตอนใต้ของจีนลงมาจนถึงปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม ด้วยความสามารถในการว่ายสวนน้ำเดินบนโขดหินได้ นั่นหมายถึงว่ากุ้งดังกล่าวมีอยู่ตามลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน ที่อุบลราชธานีคือแม่น้ำสาขาประกอบด้วยโขง ชี มูล ลำโดมใหญ่นั่นเอง (แม่น้ำโขงไหลผ่านไทยที่เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญและอุบลราชธานี)
กุ้งก้ามขนอยู่รวมกันเป็นฝูง กินจุลินทรีย์และสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่น้ำนิ่งริมฝั่ง ตัวเต็มวัยจะอยู่บริเวณกลางลำน้ำ
จากจุดกุ้งเดินขบวนไปอีกประมาณ 20 ก.ม.ก็มาถึงบริเวณอุทยานแห่งชาติ “ภูจองนายอย”ที่มีลำโดมใหญ่ไหลผ่านเช่นเดียวกัน การที่แผ่นหินทรายที่รองรับลำโดมใหญ่มีความสูงกัน น้ำจากลำโดมใหญ่จึงตกลงมากลายเป็นน้ำตก “ห้วยหลวง” หรือน้ำตก “บักเตว” นั่นเอง
ลำโดมใหญ่ที่กลายมาเป็นน้ำตกห้วยหลวงหรือน้ำตกบักเตวนั้นไหลเซาะผ่านหินทรายของเทือกเขาพนมดงรัก (สันฐานทางธรณีวิทยาของอุบลแทบจะทั้งจังหวัดเป็นหินทราย) หินทรายนั้นมีทั้งอ่อนและแข็ง น้ำฝนได้กัดเซาะทรายอ่อนจนหลายเป็นทรายมากมาย น้ำจากลำน้ำโดยได้พัดพาทรายที่ถูกน้ำกัดเซาะลงมากองอยู่ใต้น้ำตก จนใต้น้ำตกกลายเป็นแอ่งทรายใต้น้ำดุจดังแอ่งทรายริมฝั่งทะเล
บรรดานักท่องเที่ยวทั้งที่มาเป็นครอบครัว นักเรียนนักศึกษาที่มากันเป็นหมู่คณะ และคู่รักวัยหวาน จึงพากันลงมาเล่นน้ำในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว ส่วนในหน้าแล้งนั้น แม้จะมีน้ำใสแต่น้ำในลำน้ำมีปริมาณไม่มากนัก จึงมีแต่คนท้องถิ่นแถบนั้นเท่านั้นที่ลงมาเล่นและถ่ายรูป
ในช่วงฤดูฝนนี้ ในป่านอกจากจะมีตะใคร่ มอส สวยงามมาก เห็ดป่าจึงเกิดขึ้นอยู่มากมาย
สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะไปชมกุ้งเดินขบวน มีข้อแนะนำดังนี้
1.เนื่องจากพื้นที่กุ้งเดินขบวนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ จึงห้ามไปแตะต้องตัวกุ้งหรือจับกุ้งโดยเด็ดขาด
2.กุ้งจะมาให้เราเห็นก็ในช่วงน้ำแรงจัด บังคับสภาพให้กุ้งต้องมาเดินริมฝั่ง และฝั่งน้ำมักจะลื่น ทางที่ดีควรใช้รองเท้ายางราคาไม่กี่บาท เพื่อที่จะถูกน้ำได้และกันลื่นได้ดี (รองเท้าธรรมดาหัวฟาดหรือหกล้มมาเยอะแล้ว) รองเท้ายางนี้สามารถเอาไปใช้เดินริมน้ำตกได้ดีอีกด้วย
3.ควรมีไฟฉายติดตัวไปดูด้วยแต่ไม่ควรแรงจนเกินไป เพราะจะไปรบกวนกุ้ง
4.อย่าคิดว่าไปแล้วจะได้เห็นกุ้งเป็นหมื่นเป็นแสนตัวเดินขบวน (แบบในรูป) เสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับว่า “ต้นน้ำมีน้ำมากและแรงพอที่จะบังคับสภาพให้มันขึ้นมาเดินริมตลิ่งได้หรือไม่ ทางที่ดีควรเช็คสภาวะอากาศก่อนไป
5.ระวังสิ่งของตกน้ำ
6.ไม่ควรเดินออกนอกเส้นทางและควรทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ 7.ไม่ควรนำอาหารลงไปกินข้างล่าง 8.ไม่ควรส่งเสียงดังในเขตดังกล่าว เพราะจะไปรบกวนคนอื่น
ถ้าท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดอุบลฯช่วงฤดูฝน อยากจะบอกว่า เมืองนี้มีน้ำตกมากมาย มีอุทยานหลายแห่ง และไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดนั่นคือ กุ้งเดินขบวน ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ลองไปสัมผัสดูแล้วคุณจะรู้ว่าเมืองไทยของเรามีของดีมากมาย
เรื่องโดย : จำลอง บุญสอง