
มหาวิทยาลัยไทยได้รับการจัดอันดับระดับโลก ประจำปี 2024 จาก Quacquarelli Symonds (QS) เพิ่มขึ้นจาก 10 แห่งเป็น 13 แห่ง ทุกสถาบันได้อันดับสูงขึ้น ขณะที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.นเรศวร ม.ศิลปากร ได้รับคัดเลือกเข้ามาใหม่
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ศ(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า Quacquarelli Symonds (QS) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ประจำปี 2024 (World University Rankings 2024) โดยใช้หลักพิจารณาความเป็นเลิศใน 9 ด้าน ประกอบไปด้วย ชื่อเสียงด้านวิชาการ (Academic Reputation) ทัศนคติของผู้จ้างงานต่อบัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัย (Employer Reputation) สัดส่วนคณาจารย์ต่อนักศึกษา (Faculty Student Ratio) สัดส่วนจำนวนการอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ (Citations per Faculty) สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่างชาติ (International Faculty Ratio) สัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่างชาติ (International Student Ratio) เครือข่ายวิจัยนานาชาติ(International Research Network) ผลลัพธ์ด้านการจ้างงาน (Employment Outcomes) และ ความยั่งยืน(Sustainability)
ปรากฏว่า มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 13 มหาวิทยาลัย เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่ได้ 10 มหาวิทยาลัยอีก 3 มหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับเข้ามาใหม่ คือ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.นเรศวร และ ม.ศิลปากร
รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า สำหรับอันดับของมหาวิทยาลัยไทย ปรากฏว่าได้อันดับเพิ่มขึ้นเกือบทุกมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อันดับที่ 211 ม.มหิดล อันดับที่ 382 ม.เชียงใหม่ อันดับที่ 571 ม.ธรรมศาสตร์ อันดับที่ 600 ม.เกษตรศาสตร์ ได้อันดับที่ 751-760 ม.สงขลานครินทร์ อันดับที่ 901-950 ม.ขอนแก่น อันดับที่ 951-1000 ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับที่ 951-1000 ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อันดับที่ 1201-1400 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อันดับที่ 1201-1400 ม.นเรศวร อันดับที่ 1201-1400 ม.ศิลปากร อันดับที่ 1201-1400 และ ม.เทคโนโลยีสุรนารี อันดับที่ 1201-1400
“จากการจัดอันดับในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเข้มแข็งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยไทย โดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับนั้น แต่ละแห่งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวซึ่งมีรายละเอียดของตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ มาใช้ในการพัฒนาต่อไป” ศ(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าว