
“วีรเทพ พิรโรจน์” เพิ่งขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เมื่อสามเดือนก่อนนี้ สืบต่อจากนายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันฯปิดทองหลังพระฯ คนเก่า ผู้ซึ่งทำงานจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต คุณวีรเทพ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการสถาบันปิดทองฯ ช่วงกลางปี 2564 ทันทีที่ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี (SCG) เพื่อตอบสนองนโยบายของคณะกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่ต้องการนักบริหารหนุ่มจากภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาช่วยงานในยุคที่องค์กรมีการปรับตัวขนานใหญ่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ ผอ.สถาบันปิดทองหลังพระ วัย 48 ปีผู้นี้ จากการสนทนากันค่อนข้างยาว ใน พืนที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน
คุณวีรเทพบอกว่า ทำงานอยู่ที่มูลนิธิ SCG มากว่า 10 ปี เป็นมูลนิธิสาธารณกุศลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลคนทุกช่วงวัย เน้นการพัฒนาคน ตั้งแต่เด็กเล็กก่อนวัยเรียนหรือปฐมวัย โดยใช้กระบวนการเล่านิทานอ่านหนังสือ ส่วนเด็กในวัยเรียนจะส่งเสริมด้านทุนการศึกษา พัฒนาศักยภาพทางด้านศิลปะและชุมชน และทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมต่าง ๆ ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ จึงได้นำประสบการณ์จากมูลนิธิ SCG มาปรับใช้ และเรียนรู้การทำงานกับปิดทองฯ เพิ่มเติม ในด้านการทำงานกับพื้นที่แบบเชิงลึกมากขึ้น “ลักษณะการทำงานกับปิดทองหลังพระ ไม่ได้แตกต่างกับการทำงานกับมูลนิธิ SCG เท่าไรนัก แต่ปิดทองฯ มีจุดแข็งในการเชื่อมโยงการทำงานกับเครือข่ายภาครัฐค่อนข้างมาก ผมจึงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้ จากแต่ก่อนที่ทำงานภาคประชาสังคม ภาคการศึกษาเป็นหลัก การเรียนรู้การทำงานกับภาครัฐช่วยให้ผมทำงานได้กว้างขึ้น”
ก่อนหน้านี้แม้จะทำงานในตำแหน่งรองผู้อำนวยการปิดทองฯมาเพียงปีเศษ แต่ก็ลงพื้นที่อยู่ตลอด และยังได้ทำงานร่วมกับผู้อำนวยการคนเก่าด้วย เรียกว่าได้เรียนรู้งานในปิดทองฯมาพอสมควรแล้ว คุณวีรเทพบอกว่า 13 ปีของปิดทองหลังพระฯ ถือว่าประสบความสำเร็จในการวางรากฐานเรื่องระบบน้ำ การสร้างอาชีพ ซึ่งทั้ง ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล และ ผอ.การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ สองท่านได้วางรากฐานไว้อย่างดีแล้ว ใน 10 ปีข้างหน้าของปิดทองฯ จึงจะเป็นการต่อยอดการทำงานจากจุดที่เป็นอยู่ในขณะนี้
จากช่วงเวลานี้ไป คือ การพัฒนาต่อให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อความยั่งยืน เพราะการพัฒนาในระดับครัวเรือนที่ดำเนินการมานั้น ถือว่าชาวบ้านอยู่รอดได้แล้ว จึงต้องพัฒนาไปตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า คือ การรวมกลุ่มและทำให้กลุ่มสามารถเชื่อมโยงออกสู่ภายนอกได้ในทุกด้าน ทั้งการตลาด องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม กลุ่มต้องสามารถประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและประชาสังคมที่เกี่ยวข้องได้ด้วยตัวเอง โดยปิดทองหลังพระฯ จะยังคงทำงานอยู่ในพื้นที่ต้นแบบ แต่จะเป็นการทำงานเพื่อเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นในทุกมิติ “ปิดทองฯ พยายามถอยออกมาหนึ่งก้าว เพื่อเป็นพี่เลี้ยง เป็นคนให้คำปรึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ ให้ชาวบ้านและกลุ่มวิสาหกิจได้ดำเนินการด้วยตัวเอง”
ทั้งนี้ การทำงานของปิดทองหลังพระฯ ตามแผนปฏิบัติการระยะที่ 4 (ปี 2566-2570) คณะกรรมการสถาบันฯ มีมติเห็นชอบทิศทางการดำเนินงานของพื้นที่ต้นแบบใน 9 จังหวัด โดยจัดกลุ่มพื้นที่ต้นแบบเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 พื้นที่ต้นแบบที่ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จะเตรียมส่งมอบผลการพัฒนาให้ชุมชนบริหารจัดการเอง และหน่วยงานราชการเข้ามาต่อยอดการพัฒนา โดยยังถือเป็นพันธมิตรในเครือข่ายการพัฒนา กลุ่มที่ 2 พื้นที่ต้นแบบที่ยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะยังคงสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการตลาด และกลุ่มที่ 3 พื้นที่ต้นแบบที่มีผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ สามารถจัดทำแผนธุรกิจจะพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise-SE) โดยปิดทองฯ เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิต ด้วยหวังให้ในอนาคตกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีความยั่งยืน
ผอ.วีรเทพให้รายละเอียดการก้าวเข้าสู่ SEของกลุ่มวิสาหกิจต่างๆว่า ในเบื้องต้นนี้มีวิสาหกิจชุมชนที่ทำเรื่องทุเรียนคุณภาพใน3จังหวัดชายแดนใต้ มีความพร้อมที่จะเป็นSE เพราะทางปิดทองฯได้เข้าไปสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ ในเรื่องการดูแลต้น ทำให้มีผลผลิตที่ดีขึ้น จากเดิมที่ได้ผลผลิตกิโลกรัมต่อไร่น้อย รวมถึงคุณภาพส่วนใหญ่เป็นลูกตกเกรด รวมถึงที่มีหนอนเยอะ โดยช่วง4-5 ปีที่ผ่านมา มีการรวมกลุ่มกัน และพัฒนาต่อมาเป็นวิสาหกิจชุมชน ในปี 2564 ซึ่งมีการรวมกลุ่มชัดเจนมากขึ้น มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจ มีทั้งหมด 20 แห่ง ถือเป็นการรวมกลุ่มตามหลักทฤษฏีใหม่ เพราะผ่านขั้นที่หนึ่งมาแล้ว ขั้นที่สองคือการรวมกลุ่มพึ่งพากันเองได้
ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรตกลงกันว่า จะจัดตั้งเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทั้ง 20 แห่ง ซึ่งจะทำให้กลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีประมาณ 20 กลุ่ม รวมแล้วมีประมาณ 200 กว่าคน ทำให้เรื่องการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตมีต้นทุนที่ถูกลง มีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้น เชื่อมโยงไปถึงการทำเรื่องล้งพันธมิตร ซึ่งได้ทำเมื่อปีที่แล้วและทำในปีนี้ด้วย จะเห็นได้ว่าแม้วิสาหกิจชุมชนทั้ง 20 แห่งยังไม่ได้ประกาศตัวเป็นSE เต็มตัว แต่ในความเป็นจริงก็ดำเนินการในรูปแบบของSE อยู่แล้ว อย่างเช่น การนำผลกำไรที่ได้ได้มาจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ รวมทั้งผู้ที่ตกงานจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ได้เข้ามาทำงานในวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้
“ทั้งนี้ทางปิดทองฯวางแผนว่าจะทำเป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนSE เป็นโมเดลที่ทำให้คนหรือกลุ่มที่ต้องการพัฒนาดูรูปแบบของการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้คนได้มาเรียนรู้ว่าหลักการ กระบวนการตามทฤษฎีใหม่ หรือหลักการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่9 เองก็ดี ที่เราใช้ในกระบวนการจัดการกลุ่มเป็นอย่างไร ให้นำกระบวนการนั้นไปปรับใช้ กับกลุ่มของเขาเอง เราเชื่อว่าถ้าดำเนินการตามแนวประราชดำริแล้ว กลุ่มก็จะประสบความสำเร็จ ซึ่งหลักการของ SE คือการสร้างงานสร้างอาชีพ แล้วคืนกลับสู่สังคม ซึ่งหลักการรวมกลุ่มตามแนวพระราชดำริบอกอยู่แล้วว่าเมื่อคุณรวมกลุ่มกัน คุณประกอบอาชีพธุรกิจการค้ามีกำไรแล้ว ส่วนหนึ่งต้องกลับมาตอบแทนสังคม”
ผอ.ปิดทองฯคนใหม่ย้ำอีกว่า การเป็น SE เป็นการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ซึ่งธุรกิจดังกล่าวสามารถแสวงหากำไรได้ เพื่อนำกำไรนั้นไปแก้ปัญหาอีกทอดหนึ่ง นั่นหมายความว่ายังมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่จะปันกำไรให้กับผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมได้ แต่ต้องบอกว่า ในแง่ของปิดทองฯเอง คงไม่ได้ทำในลักษณะเป็นการค้าทั้งหมด100% แต่เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรจริงๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มจริงๆ ในพื้นที่จริง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นปิดทองฯจะเน้นเรื่องการพยายามรวมกลุ่มกันในวิสาหกิจ เครือข่ายวิสาหกิจ หรือแม้กระทั่งสหกรณ์ที่มีอยู่ในภาคอีสาน เพื่อแก้ไขปัญหา ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น สรุปคือSE ที่ปิดทองฯให้การสนับสุนไม่ได้ทำไปเพื่อตั้งเป็นบริษัท หรือห้างร้าน เพื่อแสวงหากำไร แต่ทำเพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาของชาวบ้านจริงๆ
ขณะเดียวกันปิดทองฯก็ส่งเสริมชาวบ้านในเรื่องBCG (Bio-Circular-Green Economy) ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียวBCG มาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
คุณวีรเทพระบุว่า โจทย์การทำงานเมื่อ 13 ปีที่แล้ว กับปัจจุบันแตกต่างกัน อย่างเช่น แต่ก่อนมีปัญหาเรื่องน้ำ แต่ตอนนี้สามารถแก้ปัญหานั้นได้แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อ คือ แนวคิดของกลุ่มฯ เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยน แปลง ทั้งเทคโนโลยีและการตลาด การคิดแบบเดิมและคาดหวังให้ได้ผลลัพธ์แบบเดิมที่เคยทำมา ต้องปรับวิธีคิดใหม่ โดยการสื่อสาร ทำความเข้าใจ เพิ่มทักษะหรือองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กลุ่มฯ มีความเข้มแข็งและยกระดับสมาชิกให้มีความรู้มากขึ้น หรือแนะนำ เชื่อมโยงนวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อช่วยในการทำงาน โดยให้ภาคเอกชนหรือภาคการศึกษาเข้ามาให้ความรู้ได้อย่างยืดหยุ่น สอดคล้องเหมาะสมกับยุคสมัย และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับแผนปฏิบัติการระยะที่ 4 ได้บูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในแผนมีความชัดเจนว่าจะพัฒนากลุ่มต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะการจะทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง สามารถตั้งเป็นเครือข่ายวิสาหกิจหรือสหกรณ์ในปี 2570 ซึ่งภายใน 5 ปีนี้กลุ่มต้องเดินไปเองได้แล้ว แต่ระหว่างช่วงปี 2566 ไปจนถึงปี 2570 คงต้องมีการพัฒนากลุ่ม เพื่อให้กลุ่มมีความรู้ สามารถพัฒนากระบวนการจัดการต่างๆ ซึ่งจะต้องสร้างผู้นำในพื้นที่ให้ขึ้นมารับช่วงต่อ เพราะเดิมปิดทองฯพาทำพร้อมๆกัน แต่ตอนนี้พยายามจะให้กลุ่มต่างๆ มายืนอยู่แถวหน้า โดยปิดทองฯเป็นผู้สนับสนุนอยู่ด้านหลัง ทั้งเรื่องของการให้คำปรึกษา คำแนะนำต่างๆ แม้กระทั่งการจัดประชุมต่างๆ เดิมปิดทองฯเป็นคนทำงานให้ เพื่อให้ตั้งไข่ได้ แต่หลังจากนี้ หลายกลุ่มสามารถบริหารกลุ่มด้วยตัวเอง มีผู้นำขึ้นมาประชุมเอง มีการติดตามผลของกลุ่มเอง ทางปิดทองฯแค่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงเท่านั้น
ขณะเดียวกันมีการปรับเปลี่ยนที่มาของงบประมาณ จากการได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพียงแหล่งเดียว เป็นการมุ่งแสวงหารายได้จากการให้บริการวิชาการ การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการการพัฒนา และนำประสบการณ์ความรู้มาบูรณาการแผนงานร่วมกับหน่วยงานอื่น รวมทั้งภาคธุรกิจ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ในรูปแบบของ Matching fund ยกตัวอย่าง เช่น ความร่วมมือกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาลุ่มน้ำมูล เป็นต้น จากนี้ คงต้องติดตามการดำเนินงานของปิดทองหลังพระฯ ที่มีคุณวีรเทพ เป็นผู้อำนวยการ ภายใต้โจทย์ใหม่ พร้อมๆ กับการเดินหน้าสู่ยุคปรับโฉมเพื่อไปสู่ย่างก้าวการทำงานแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม
00000 ขอบคุณข้อมูลจาก “มติชนสุดสัปดาห์”