
“ศุภมาส” หารือ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
ขยายความร่วมด้านชีววิทยาศาสตร์ ทั้งการแพทย์จีโนมิกส์- การแพทย์ทางเลือก พร้อมเตรียมร่วมประชุมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ Belt and Road Initiative พ.ย.นี้ ที่นครฉงชิ่ง ด้าน “หัวเว่ย” นำทีมเข้าพบผนึกกำลังสร้างแพลตฟอร์มพัฒนาเทคโนโลยี-กำลังคนด้านดิจิทัลของไทย
นายหาน จื้อเฉียง (Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. และ รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. ร่วมหารือฯ ที่กระทรวง อว. เมื่อวันที่2 พ.ย.ที่ผ่านมา
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมและการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างกันบนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ของสองประเทศ เพื่อยกระดับความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในภาพใหญ่ให้มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนและให้เกิดประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้น
น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า ตนและ นายหาน จื้อเฉียงได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ด้านการอุดมศึกษา ได้แก่ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา/ครูผู้สอน การส่งครูอาสาสมัครจีนมาสอนในไทย ทุนการศึกษา การจัดตั้งสถาบันขงจื๊อในประเทศไทย 17 แห่ง และการจัดประกวดสุนทรพจน์ภาษาจีนทุกปี โดยในส่วนของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีกิจกรรมความร่วมมือที่โดดเด่น อาทิ การร่วมพัฒนาเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของประเทศไทย การพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่จะสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมธุรกิจอวกาศได้ในอนาคต
“ที่สำคัญ จะมีการขยายความร่วมมือด้านชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) ทั้งการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์ทางเลือก ที่จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นและเจ็บป่วยน้อยลงซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตนยังได้รับเชิญจากรัฐบาลจีนให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ Belt and Road Initiative ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ นครฉงชิ่ง ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้หารือความร่วมมือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน รวมทั้งจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคประชาชนระหว่างไทยและจีนอีกด้วย” น.ส.ศุภมาสกล่าว
จากนั้นนายเอดิสัน ซู ประธานกรรมการ บจก. หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ได้นำคณะผู้บริหารเข้าพบนางสาวศุภมาส พร้อมหารือความร่วมมือสร้างแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลของไทย ภายหลังการหารือ นางสาวศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. พร้อมร่วมมือกับ บจก. หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) สร้างแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล โดยมีมหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่งเข้ามาร่วมบ่มเพาะทักษะด้านดิจิทัลให้แก่นักศึกษา และพัฒนาห้องเรียนอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังพร้อมร่วมมือในการพัฒนาด้าน 5G solution สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต และการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ามาเป็นแกนหลักในการร่วมขับเคลื่อนกับ บจก.หัวเว่ย
โอกาสนี้ ผู้บริหาร บจก.หัวเว่ย ได้เรียนเชิญ รมว.กระทรวง อว. ไปเยี่ยมชม Huawei Research and Development Center ณ นครเซี่ยงไฮ้ และสำนักงานใหญ่ของ Huwei ณ เมืองเซินเจิ้น ในโอกาสที่ รมว.กระทรวง อว. จะเดินทางเยือนจีนเพื่อร่วมประชุมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดือน พ.ย.นี้ อีกด้วย