
ในอดีตบ้านดุงมีชื่อเสียงในเรื่องการทำเกลือสินธาว์ แต่มาวันนี้ผู้คนทั่วประเทศไปบ้านดุงเพราะมี”คำชะโนด”เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
ไปเที่ยวอำเภอบ้านดุงมาตั้งนาน แต่ไม่เคยไปคำชะโนดเลย พรรคพวกเพื่อนฝูงชวนไปหลายครั้งก็ไม่ได้ไป เพราะไม่ได้เชื่อในเรื่อง “ผีจ้างหนัง” มองว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผีจะจ้างหนังไปฉายและมีคนดูมากมาย แต่พอรุ่งเช้ากลับกลายเป็นว่าไปฉายหนังที่นั่นโดยไม่มีร่องรอยคนดูอะไรเลย
เกลือสินเธาว์ใต้ดินอีสานมีตั้งแต่แอ่งโคราชไปยันริมโขง บ้านดุงของจังหวัดอุดรก็เป็นอำเภอที่ทำนาเกลือสินเธาว์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ตอนนี้เกลือก็ยังมีทำอยู่แต่หลายคนหันไปเลี้ยงปลากะพงในน้ำเค็มในพื้นที่ที่เป็นบ่อ ผลปรากฏว่าปลากะพงอ้วนพีดีกว่าในน้ำทะเลซะอีก
ที่เอ่ยเรื่องการทำมาหากินของท้องถิ่นนี้ก็เพื่อปูพื้นว่าแถวนั้นหากินกันยังไง แน่นอนว่าการปลูกข้าวต้องมีแน่นอนแต่ไม่ใช่แถวๆที่ทำนาเกลือแน่ เพราะข้าวเป็นศัตรูกับเกลือครับ..สมัยก่อนแถวนั้นหากินกับนาเกลือ จะหากินกับเครื่องบวงสรวงพญานาคกันก็เพียงไม่กี่เจ้าก่อนที่จะถึงวัด ตอนหลังมีคนทำกระทงบูชาพญานาคขายมากขึ้นก็ตอนละครเรื่องนาคีกำลังดังนั่นแหละ
แม่ค้าจากไม่กี่เจ้ากลายเป็นสิบ เป็นร้อยเจ้า
จากขายเกลือสินเธาว์ริมทางกลายมาเป็นขายกระทงบูชา
จากรายได้เพียงวันละไม่กี่สิบกี่ร้อยบาท กลายเป็นหมื่นเป็นแสนภายในระยะเวลาเดียวกัน มากที่สุดก็คือช่วงวันหยุดยาว
แวะข้างทางเพื่อสอบถามข้อมูลก่อนเข้าไปถึงวัด แม่ค้ากระทงบูชาบอกว่ามีทั้งกระทงบูชาพระยานาคราชและกระทงบูชาเพื่อให้เกิดลาภผล
ราคาก็ตั้งแต่หลักสิบไปจนหลักหมื่นหลักแสน หลักหมื่นหลักแสนก็ดูในรูปเอาเถิดครับว่ามันสมราคาไหม
คนที่ไม่เคยทำกระทงก็หัดฝึกทำกระทง เพราะรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะคนที่มาทั้งมาจากอีสานและจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ คนที่มาก็มาด้วยความหวังในการบนบานศาลกล่าวเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการ
วันหยุดสุดสัปดาห์ก็มากหน่อย หยุดติดต่อกนสามวันสี่วันก็ไม่ต้องพูดถึง คนไหลตามกันยังกับน้ำไหลไปตามร่อง หาที่เหยียบที่ยืนพักไม่ได้
คนมาอย่างน้อยก็ซื้อกระทงบูชาราคาไม่กี่สิบกี่ร้อยบาท แหม..แต่สำหรับคนรวยแล้ว..จะบนบานในสิ่งที่ตัวเองต้องการเยอะๆ..ลงทุนน้อยจะขอมากๆ มันก็ไม่สมเหตุสมผลสิ…ต้องเกทับคนจนด้วยบายศรีแพงๆไปเลย
ดังนั้น..เวลาเข้าไปในบริเวณที่เขาทำพิธี..ก็เลยมีความแตกต่างหลากหลายทั้งขนาดและความงามของกระทงบูชาพญานาคให้เห็น
ตอนผมไปออกจะเช้าหน่อยแต่ก็มีคนมามาก ยิ่งสายก็ยิ่งมากขึ้นทุกนาที ผู้ที่เดินทางไปบูชาและบนบาลศาลกล่าวมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มีตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนแก่ พระก็มาก นักเรียนก็มี ทั้งไปบูชาเป็นกลุ่มและมารวมกันต่อหน้าศาลแล้วมีผู้ประกอบพิธีให้ร่วมกัน ใครจ้างคนนำ คนทำพิธีก็จ้างกันไปทำกันเองเฉพาะกลุ่ม ในพื้นที่เดียวกันจึงมีหลายกลุ่มที่ทำพิธี
บางคนไม่ได้ไปทำพิธีบูชาพญานาคหรือเจ้าพ่อเจ้าแม่อะไรหรอกครับ ไปผูกผ้าสีเขียวสีแดงตามต้นไม้บ้าง เอาไข่มาถวายบ้าง จุดธูปจุดเทียนบูชาต้นไม้กันเองบ้าง บนบานศาลกล่าวกับต้นไม้บ้าง
และในระหว่างที่คนกำลังทำพิธีบูชาหรือบนบานศาลกล่าวอยู่นั้น ก็มีคนจำนวนมากมายกำลังเอาแป้งโรยไปที่ต้นไม้แล้วขัดถูกันอย่างใจจดใจจ่อ ก็หาหวยนั่นแหละ!
ต้นไม้ที่เขาถูหาหวยจะเป็นต้นไม้ใหญ่ๆครับ เพราะคนถูเชื่อว่าเจ้าพ่อเจ้าแม่ผู้บันดาลโชคลาภให้เขาได้สิงสถิตอยู่และจะให้หวยตรงที่เขาถูนั่นเอง ส่วนต้นไม้เล็กที่อยู่ริมทางไม่โดนถูครับ แต่ก็ถูกผ้าสีพันไปแทบจะทุกต้น
อีกซีกหนึ่งของบริเวณที่ทำพิธีซึ่งตรงข้ามกับที่ถูต้นไม้หาหวย จะมีสระน้ำใหญ่ สระที่ว่านั้นว่ากันว่าเป็นน้ำใต้ดิน มีผู้คนจำนวนมากใช้กระบวยที่ทำด้วยกะลาตักน้ำราดหัวตัวเองด้วยหวังว่ามันจะเป็นสิริมงคลสำหรับตัวเอง บ้างก็เอาขวดน้ำมากรอกเอาไปบ้านด้วยเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
ใกล้ๆกันก็จะมีฆ้องหลายใบอยู่ระหว่างทางเดิน ผู้คนที่เชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่านไปผ่านมาก็อธิษฐานว่าถ้าหวังสิ่งใดก็ขอให้ถูแล้วฆ้องดังกังวาน บางคนก็กังวาน บางคนก็ไม่กังวานครับ เชื่อว่าดังหรือไม่ดังสามารถพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์
กลิ่นธูปควันเทียนคลุ้งไปทั้งบริเวณครับ ผมเคยไปดูศาสนสถานฮินดูและวัดจีนหลายแห่งก็มีลักษณะคล้ายๆกันนี้
กลับออกมาด้านนอกเห็นมีตลาดขายของมากมาย ที่สำคัญก็คือแผงขายล๊อตเตอรี่กับเสื้อผ้าที่แสดงความเป็นคำชะโนดแบบเดียวกับเสื้อผ้าที่ทำขายในสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ
ปรากฏการณ์คำชะโนดส่งผลต่อเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่นอย่างมากมาย เงินที่ผู้คนจากต่างถิ่นมาทิ้งให้คนแถบนั้นมากมายมหาศาลเป็นร้อยๆล้านต่อเดือนด้วยความเต็มใจ ส่งผลถึงการท่องเที่ยว ส่งผลถึงตัวเลขรายได้ของจังหวัดที่ไม่ต่างอะไรกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่หนองคายและส่วนอื่นๆริมแม่น้ำโขง
พญานาคจะมีจริงหรือไม่มีจริงอย่างไรยังพิสูจน์กันไม่ได้ แต่สิ่งที่พญานาคให้กับคนริมโขงและคนอีสาน..ก็คือรายได้มหาศาลที่ผู้คนทุกสารทิศนำมาทิ้งไว้ให้
เรื่องโดย : จำลอง บุญสอง