
‘แม่ฮ่องสอน’ เป็นเมืองท่องเที่ยวเหนือสุดของไทยที่มีวัดวาอารามสวยงามหลายแห่ง แต่ละวัดล้วนโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ บ้างก็เป็นสไตล์วัดพม่า เนื่องจากอยู่ติดชายแดนประเทศเมียนมา หลายแห่งมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ มีอายุหลายร้อยปี ฉะนั้นในโปรแกรมทัวร์เมืองแห่งสายหมอก จึงมักมีวัดวาอารามรวมอยู่ด้วย
วันก่อน‘ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง’ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงาน “พิพิธภัณฑ์มีชีวิตขุนยวมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่วัดคำใน ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีนายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจ.แม่ฮ่องสอน เข้าร่วม พร้อมด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่นในอ.ขุนยวม เครือข่ายนักวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ดร.วิภารัตน์ให้ข้อมูลว่า วช.ได้สนับสนุนโครงการวิจัยการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขุนยวมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แก่ อาจารย์ ดร.สรายุธ รูปิน แห่งคณะวิจิตรศิลป์ มช. หัวหน้าโครงการวิจัย และคณะ ศึกษาวิจัยเรื่องขุนยวมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต องค์ความรู้ครอบคลุม ทั้งประวัติชุมชน ภูมิทัศน์วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม งานหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน ประเพณี พิธีกรรม
รวมถึงการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของของกลุ่มชาติพันธุ์ใน อ.ขุนยวม เพื่อบุกเบิกแนวทางส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน บนฐานแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทย โดยบูรณาการองค์ความรู้จากงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ ภูมิทัศน์ และวัฒนธรรมขุนยวม ไปฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ผ่านการมีส่วนร่วมของสถาบันการอุดมศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมด้วยการสนับสนุนจากเจ้าอาวาสวัดม่วยต่อ วัดคำใน นายกเทศมนตรีต.ขุนยวม และผู้จัดการโรงแรมยุ้น ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เทศบาลต.ขุนยวม โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดเป็นข้อเสนอแนะ และการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกับอปท.ท้องถิ่น ในการเสริมสร้างการอนุรักษ์ พัฒนากายภาพ เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชนอ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน
สำหรับวัดคำในเป็นวัดที่มีพระพุทธรูปไม้ไผ่สานลงรักปิดทองอายุกว่า 100 ปีสไตล์ไทยใหญ่-พม่า มีไม้แกะสลักเป็นรูปเทวดาที่แสดงออกที่หน้าตาท่าทางเหมือนมีชีวิต ธรรมมาสโบราณที่ประดับด้วยพลอยพม่าและพระพุทธรูปไม้แกะสลักอื่นๆจำนวนมาก รวมทั้งศาลาการเปรียญทรงไทยใหญ่ที่สวยสดงดงาม เจดีย์สีทองอร่ามทรงไตใหญ่-พม่า วัดนี้มีการฟื้นฟูประเพณีฮอลีก (เทศน์มหาชาติ) ในเดือนกันยายนของทุกปี ส่วนวัดม่วยต่อ สร้างเมื่อปี 2432 ด้วยสถาปัตยกรรมไทใหญ่ โดยเจ้านางเมียะ เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนสมัยนั้น ถ้าไปวัดนี้ต้องไปชมพระประธานในอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองเหลือง นำมาจากประเทศเมียนมาในปี 2466 พระประธานในศาลาการเปรียญ เป็นพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์ ศิลปะแบบพม่า
พระพุทธรูปสิงห์ 1 สิงห์ 3 ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานในศาลาการเปรียญ งาช้างแกะสลักเป็นพระพุทธรูป 2 คู่ แท่นพระแบบปราสาทยอดแหลม เจดีย์และระฆังแบบกระดิ่งรูปใหญ่ พระเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ ล้อมรอบด้วยพระเจดีย์บริวาร ยอดประดับด้วยฉัตรโลหะ แขวนกระดิ่งโดยรอบและจอง นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์เครื่องมือเครื่องใช้โบราณในอดีตของคนไต มีแผงพระพุทธรูปบูชาสไตล์ไทยใหญ่พม่าที่ประดับด้วยไฟสวยงาม พระพุทธรูปไม้จำนวนมากในตู้ ศาลาไม้เล็กๆที่มีวัวเทียมเกวียนสะท้อนวิถีชีวิตของอดีตของการขนส่งของคนภูเขาชาวไตเมืองยวม
อีกอย่างที่น่าสนใจคือ ต้นขนุนอายุกว่าร้อยปี ที่เติบโตมาพร้อมกับการสร้างวัด และต้นบุนนาก อายุกว่า 100 ปี วันที่ไปบริเวณหน้าศาลามีนักเรียนมัธยมเมืองปายมาเป็นมัคคุเทศก์น้อย อันเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการ โดยนำคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนในการรักษาและรู้คุณค่าโบราณวัตถุอันล้ำค่า พร้อมกันนั้นยังเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่นอีกด้วยนับเป็น2 วัดในโครงการ”พิพิธภัณฑ์มีชีวิตขุนยวมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนขุนยวมไม่ควรพลาด
จำลอง บุญสอง