
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. รศ.บัณฑิต ทิพากร ประธานอนุกรรมการฯ โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ที่เข้าร่วม “โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ” ของมหาวิทยาลัย 3 แห่งในจ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14 – 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่ มหาวิทยาลัยพายัพ 2 หลักสูตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 3 หลักสูตร และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เชียงใหม่ 2 หลักสูตร
ดร.ดนุชกล่าวว่า โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ โดยเฉพาะหลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร หรือ Non-degree เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มคนที่ไม่ได้เรียนอยู่ในระบบให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพ อย่างมหาวิทยาลัยพายัพที่ในอดีตคนกลุ่มนี้ คือ คนทำอาชีพนวด หรืออาหารไทยพื้นถิ่น แทบจะไม่อยู่หรือเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเลย ศ.สัมพันธ์กล่าวย้ำว่า ในการดำเนินการโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ อยากให้ทุกมหาวิทยาลัยทำแบบพื้นฐานของวิชาการ ไม่ใช่พื้นฐานของการบริการทางวิชาการ เช่น วิธีการออกแบบหลักสูตร การวิจัย ตัวแปรควบคุม ตัวแปรตาม เป็นต้น
ด้าน รศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวเสริมว่า หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ควรจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาด (demand) และรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างแท้จริงส่วนรศ.บัณฑิตกล่าวว่า บัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง มักลืมคำว่า “กำลังคนที่มีสมรรถนะสูง” ซึ่ง Non-degree เป็นการให้ประกาศนียบัตรอันใหม่ที่มีคุณค่าที่สามารถไปทำงานต่อได้ ไม่ได้เน้นส่งเสริมแค่วิชาชีพ ต้องแยกการให้การศึกษากับการฝึกอบรมให้ออก ชต้องไม่พัฒนาหลักสูตรให้เป็นเหมือนแค่การฝึกอบรม ทักษะการเรียนรู้ต่างๆ คือคีย์หลักในการเป็นบัณฑิตที่อยู่ในตัวตนของเด็ก ไม่ใช่บัณฑิตที่อยู่บนกระดาษ
ทั้งนี้คณะ อว. ได้เข้าตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานหลักสูตรที่เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ของมหาวิทยาลัย 3 แห่งในจ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยพายัพ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรนวดไทยเพื่อการบริการแก่ชาวต่างชาติ และหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านอาหารและขนม ขณะที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG หลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและนวัตกรรม และหลักสูตรการผลิตกัญชงอุตสาหกรรมแบบอัจฉริยะ ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรประกาศนียบัตร (นวัตกรรมเกษตรอินทรีย์) และหลักสูตรประกาศนียบัตร นวัตกรรมและการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในยุคสถานการณ์โควิด-19 สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา