
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนสนับสนุนงานวิจัย และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม ซึ่งวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายภาคธุรกิจแทบตั้งหลักไม่ทัน ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทั้งปิดกิจการ ลดพนักงาน รวมถึงปรับปรุงการบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มีนวัตกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องหลายโครงการที่ทาง วช. ได้ให้การสนับหนุนเพื่อนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน รวมไปถึงงานวิจัยที่นำเสนอโดยทีมวิจัยจากคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า ในเรื่องการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจต่อแรงงานที่เคลื่อนย้ายกลับสู่ท้องถิ่นในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำองค์ความรู้นี้ไปปรับใช้ให้ผู้ประกอบการและพนักงานลูกจ้างฝ่ามรสุมวิกฤตนี้ไปให้ได้
รศ.ดร. เจริญชัย เอกมาไพศาล อาจารย์คณะการจัดการการท่องเที่ยว นิด้า เปิดเผยว่า เดิมทีธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ เป็นรายได้หลักในการนำเม็ดเงินเข้าประเทศ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในหลากหลายอาชีพทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะทั้งผู้ประกอบการและพนักงาน ซึ่งการจากลงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ เพื่อเจาะลึกหาข้อมูลการวิจัยเชิงคุณภาพ มีการพูดคุยกับผู้ประกอบ และ พนักงานที่ได้รับผลกระทบ พบว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ที่วางโครงสร้างไว้ดีแม้จะต้องปรับตัวเองหลายด้าน แต่ก็สามารถฝ่าวิกฤตไปได้ อย่างไรก็ดีมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดตัวลง ส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงาน
ผลจากการวิจัยพบว่าจากสถานการณ์โควิด -19 ทำให้ลูกค้าน้อยลง รายได้ลดลงมาก เนื่องจากผู้บริโภคส่วนหนึ่งมีความกังวลด้านความปลอดภัยที่จะไปใช้บริการ จนกระทั่งต้องปิดกิจการ ต้องปรับการบริหารจัดการภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะอาดคุณภาพของอาหาร การควบคุมค่าใช้จ่าย ลดพนักงาน การปรับวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัวเห็นอกเห็นใจเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ผู้ประกอบการต้องมีทักษะ มีสติในการรับข้อมูลข่าวสารทันต่อเหตุการณ์ ไม่วิตกกังวลกับความไม่แน่นอน ที่สำคัญมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว ใช้เทคโนโลยีหรือช่องทางออนไลน์ในการสร้างรายได้ ขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น
ในส่วนของพนักงานหรือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มีจำนวนไม่น้อยต้องกลับถิ่นฐานเดิม และพยายามหารายได้มาเลี้ยงชีพ ซึ่งในกลุ่มนี้จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีทักษะที่หลากหลายในยุคดิจิตอล การสร้างรายได้บนมือถือหรือที่เรียกว่าการขายของออนไลน์ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง การเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะของตลาดในยุคปัจจุบัน ที่สำคัญคือการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ต้องรู้จักประมาณตน มีการวางแผนการดำเนินชีวิต ประหยัดรู้จักออม เพื่อสามารถนำเงินมาใช้ในคราวจำเป็นเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ เนื่องจากปัญหาแรงงานไทยจะประสบปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เยอะมาก ต้องปรับพฤติกรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ซึ่งผลจากการวิจัยนี้เชื่อว่าเป็นองค์ความรู้ในการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว เมื่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงาน สินค้าและบริการ ต้องปรับกลยุทธ์รับมือเพื่อความอยู่รอด