คลังเก็บหมวดหมู่: สังคม

สวธ.แจ้งการบำเพ็ญกุศล บุญ“ฉลอง ภักดีวิจิตร” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ผู้สร้างตำนานระเบิดภูเขา-เผากระท่อม

สวธ.แจ้งการบำเพ็ญกุศล บุญ“ฉลอง ภักดีวิจิตร” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงผู้สร้างตำนานระเบิดภูเขา-เผากระท่อม

นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายบุญฉลอง ภักดีวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับ–ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) พุทธศักราช ๒๕๕๖ ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๓ ก.ย. สิริอายุ ๙๓ ปี ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. โดยนางบุญจิรา ตรีริยะ (ภักดีวิจิตร) บุตรสาวแจ้งว่า ขณะนี้กำลังรอผลการวินิจฉัยการถึงแก่กรรมอย่างเป็นทางการ ซึ่งสวธ. จะแจ้งกำหนดการพิธีรดน้ำศพ และกำหนดการสวดพระอภิธรรม ในลำดับต่อไป เมื่อทราบข้อมูลจากทายาทแล้ว

อธิบดีสวธ. เปิดเผยอีกว่า สวธ. ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ในกรณีศิลปินแห่งชาติเสียชีวิต จะได้รับสวัสดิการช่วยเหลือตามกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕ ดังนี้ มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ค่าเครื่องเคารพศพ ๓,๐๐๐ บาท และค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ด้วย

สำหรับประวัติของ นายบุญฉลอง ภักดีวิจิตร หรือ นายฉลอง ภักดีวิจิตร ปัจจุบันอายุ ๙๓ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔ ที่กรุงเทพมหานคร บิดาชื่อ นายพุฒ ภักดีวิจิตร อาชีพรับราชการ มารดาชื่อ นางลิ้นจี่ ภักดีวิจิตร เป็นแม่บ้าน สำเร็จการศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนอำนวยศิลป์

​นายฉลอง เข้าสู่วงการภาพยนตร์โดยได้แรงบันดาลใจจากบิดาเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และคุณอาเป็นผู้ถ่ายภาพและกำกับการแสดง เข้ามาอยู่ในสายเลือดโดยอัตโนมัติ ด้วยวัยเพียง ๑๙ ปี ได้ก้าวเข้ามาเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ ถ่ายภาพยนตร์เรื่องแรก เรื่องแสนแสบ จากบทประพันธ์ของไม้เมืองเดิม หลังจากนั้น ได้ศึกษาขบวนการทำภาพยนตร์และเทคนิคต่าง ๆ ด้วยตนเอง จากหนังสือคู่มือรวบรวมขบวนการถ่ายทำของประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาการถ่ายทำภาพยนตร์มาเป็นลำดับ ไม่เคยหยุดนิ่ง จนประสบความสำเร็จสูงสุดด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระราชทาน พระสุรัสวดี ถึงสองปีซ้อน ในฐานะช่างถ่ายภาพยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่องผู้พิชิตมัจจุราชและละอองดาว จากประสบการณ์ที่ถ่ายทำภาพยนตร์มาเป็นเวลาหลายปี จึงได้เปลี่ยนมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ โดยกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก คือ เรื่องจ้าวอินทรีย์ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และพิสมัย วิไลศักดิ์ ต่อมาได้สร้างสรรค์ผลงานมากมาย ผลงานที่สร้างชื่อเสียง เช่น สอยดาวสาวเดือน ฝนใต้ ฝนเหนือ ทอง ขบวนการพยัคฆ์ร้าย ตัดเหลี่ยมเพชร เป็นต้น

​อาฉลอง เป็นผู้มีความมุ่งมั่นที่จะนำภาพยนตร์ไทยเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์นานาชาติ โดยนำดาราต่างประเทศมาร่วมนำแสดงจนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในวงการภาพยนตร์ทั่วโลก ได้เข้าทำเนียบผู้กำกับภาพยนตร์นานาชาติในนามของ P.CHALONG ฉลอง ภักดีวิจิตร ให้ความสำคัญต่อการสร้างภาพยนตร์ในทุกรายละเอียด มีจินตนาการ กล้าคิด กล้าทำ และกล้าที่จะลงทุนทำให้ภาพยนตร์ เรื่อง ทอง คือ ตำนานของผู้กำกับอย่างฉลอง ภักดีวิจิตร

ต่อมาได้ผันตัวเองมาทำงานบุกเบิกละครแนวบู๊ทางโทรทัศน์ มีผลงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน
​อาฉลอง สร้างชื่อเสียงในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ มีผลงานถ่ายภาพยนตร์ สร้างภาพยนตร์ และกำกับภาพยนตร์มากมายเป็นเวลากว่า ๖๓ ปี และยังได้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้แก่วงการภาพยนตร์ไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลเป๋าติง จากภาพยนตร์เรื่อง ทอง ในฐานะภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิงสูงสุด จากประเทศไต้หวัน รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ในฐานะผู้ประสพความสำเร็จในชีวิตการสร้างภาพยนตร์ จากสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ รางวัลเกียรติยศ ปูชนียบุคคลแห่งวงการบันเทิง จากสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ด เป็นต้น

ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับ–ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) พุทธศักราช ๒๕๕๖

0 Shares

กระทรวงคมนาคม บูรณาการร่วมช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยพื้นที่จ.เชียงราย สั่ง “เจ้าท่า”

กระทรวงคมนาคม บูรณาการร่วมช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยพื้นที่จ.เชียงราย สั่ง “เจ้าท่า”

นำเรือพระราชทาน เร่งช่วยเหลือฯ พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมออกประกาศเตือนชาวเรือให้ระมัดระวังการเดินเรือในระยะนี้

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า น.ส่ง.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีความห่วงใยประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ได้กำชับให้กรมเจ้าท่า นำกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยเรือท้องแบนพระราชทานและยานพาหนะต่างๆช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จ.เชียงราย พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง

นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ได้สั่งการกำชับให้ทุกหน่วยงานของกรมเจ้าท่า ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยและพื้นที่เฝ้าระวัง บูรณาการและเตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เรือท้องแบนพระราชทาน ยานพาหนะ อุปกรณ์ต่างๆ ออกช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มกำลัง พร้อมออกประกาศกรมเจ้าท่าที่ 223/2567 แจ้งเตือนให้ระมัดระวังในการเดินเรือ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายอากาศทั่วไประหว่างวันที่ 10-16 ก.ย. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 14-16 ก.ย.ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง จึงขอให้นายเรือหรือผู้ควบคุมเรือ หลีกเลี่ยงบริเวณฝนฟ้าคะนอง ติดตามข่าวอากาศอย่างต่อเนื่อง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันที่มีความยาวเรือน้อยกว่า 10 เมตร และอ่าวไทยที่มีความยาวเรือน้อยกว่า 7 เมตร ห้ามออกจากฝั่งไปยังทะเลเปิดในระยะนี้

สำหรับการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ประสบอุทกภัย ในวันที่ 12 ก.ย. บริเวณบ้านน้ำลัด ต.ริมกก อ.เมืองจ.เชียงราย ซึ่งมีประชาชนติดอยู่ภายในประมาณ 100 กว่าคน โดยนายภูเมศ สุขม่วง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยกรมเจ้าท่า ภาค 1 ได้นำเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่า พร้อมด้วย เรือพระราชทาน เรือเจ็ทสกี และรถยนต์ เข้าสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จ. เชียงราย ลำเลียงอาหารและน้ำดื่ม อย่างเร่งด่วน โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ในการเข้าช่วยเหลือของศูนย์ฯ ภาค1 35 คน เรือพระราชทาน 2 ลำ เรือท้องแบน 1 ลำ เรือเจ็ทสกี 3 ลำ รถบรรทุกหกล้อมีเครนยก 1 คัน รถกะบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 8 คัน
-สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 กำลังพล 2 คน รถ 1 คัน
-สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย กำลังพล 15 คน เรือเจ็ทสกี 1 ลำ รถ 3 คัน
-สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ กำลังพล 4 คน เรือเจ็ทสกี 1 ลำ รถ 1 คัน
-สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ กำลังพล 3 คน เรือท้องแบน 1 ลำ รถ 1 คัน
-สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพิษณุโลก กำลังพล 3 เรือเจ็ทสกี 1 ลำ รถ 1 คัน
-สำนักงานและพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 คน 8 เรือพระราชทาน 2 ลำ รถ 2 คัน สำหรับพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง

0 Shares

กองทัพไทย ร่วมกับ ซีพี-ซีพีเอฟ และข้าวตราฉัตร ส่งอาหารจากใจ บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบอุทกภัย จ.เชียงราย

กองทัพไทย ร่วมกับ ซีพี-ซีพีเอฟ และข้าวตราฉัตร ส่งอาหารจากใจ บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบอุทกภัย จ.เชียงราย

พล.ท.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย รับมอบน้ำดื่มซีพีและข้าวตราฉัตร จาก นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้โครงการ ‘CP-CPF ส่งอาหารจากใจ สู้ภัยน้ำท่วม’ พร้อมด้วยผู้บริหารข้าวตราฉัตร จิตอาสา เครือซีพี-ซีพีเอฟ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และส่งกำลังใจให้พี่น้องผู้ประสบอุทกภัย จ.เชียงราย นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังตระหนักถึงผลกระทบกับสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยนำอาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์เจอร์ไฮและจินนี่ มามอบในครั้งนี้อีกด้วย ณ กองบัญชาการกองทัพไทย

พล.ท.ธีรพงศ์ กล่าวว่า กองทัพไทยมีศักยภาพด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งอุทกภัยในครั้งนี้ ขอขอบคุณทางเครือซีพีและซีพีเอฟ ที่นำอาหารแห้ง อาหารสด และน้ำดื่ม มาสนับสนุน ซึ่งกองทัพไทยขอน้อมรับและจะนำสิ่งของเหล่านี้ไปบรรจุลงถุงยังชีพ เพื่อกระจายส่งถึงมือพี่น้องในพื้นที่โดยเร็วที่สุด

ด้าน นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เครือซีพีและซีพีเอฟ ดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยในภาวะวิกฤติอย่างเร่งด่วน ตามนโยบายของประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ โดยนำขีดความสามารถของบริษัทฯ มอบอาหารและน้ำดื่ม ร่วมสนับสนุนภารกิจ รวมถึงแก้ปัญหาพื้นที่ที่เกิดเหตุอุทกภัย ครั้งนี้ได้ร่วมมือกับกองทัพไทย ซึ่งมีกำลังคนเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ในการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ในวันที่ 12 ก.ย. จิตอาสา ซีพี-ซีพีเอฟ จะลงพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย นำผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีเอฟ ประกอบด้วย เนื้อหมูสด ไข่ไก่สด รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมว มอบผ่าน พ.อ.สิงหนาท โลสุยะ รักษาราชการรองเสนาธิการ มณฑลทหารบกที่ 37 ค่ายเม็งรายมหาราช เชียงราย และมูลนิธิเพชรเกษม เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่อไป

เครือซีพี-ซีพีเอฟ เดินหน้าช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหาร สิ่งของที่จำเป็น ภายใต้โครงการ ‘CP-CPF ส่งอาหารจากใจ สู้ภัยน้ำท่วม’ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ มาตั้งแต่เดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่สด เนื้อเป็ดสด ไข่ไก่ อาหารพร้อมรับประทานจากห้าดาว น้ำดื่มซีพี ข้าวตราฉัตร ถุงยังชีพ เป็นต้น ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และสุโขทัย ผ่านหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงครัวของศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จ.สุโขทัย โรงครัวพระราชทาน กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ในองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โรงครัว 10 แห่ง ของกลุ่มแม่บ้านจิตอาสา โรงครัวมูลนิธิเพชรเกษม วัดคลองกระโจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย และเทศบาลเมืองดอกคำใต้ จ.พะเยา และจะส่งความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลาย

0 Shares

วธ. เชิญร่วมงาน ไทยฟุ้ง ปรุงไทย (Thai Taste Thai Fest 2024) “เลิศล้ำภูมิปัญญา เลอค่ารสชาติไทย”

วธ. เชิญร่วมงาน ไทยฟุ้ง ปรุงไทย (Thai Taste Thai Fest 2024) “เลิศล้ำภูมิปัญญา เลอค่ารสชาติไทย”

เปิดโลกมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งปี ชิมฟรี สุดยอดอาหารถิ่นทั่วไทย รสชาติ..ที่หายไป เต็มอิ่มกับคอนเสิร์ตลูกกรุง-ลูกทุ่ง นำโดยศิลปินแห่งชาติ สุดา ชื่นบาน วินัย พันธุรักษ์ ชัยชนะ บุญนะโชติ น้าโย่ง เชิญยิ้ม พร้อมศิลปินยอดนิยม ทศพล หิมพานต์ ศิรินทรา นิยากร รุ่ง สุริยา แซ็ค ชุมแพ จอมขวัญ กัลยา

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.)จัดแถลงข่าวการจัดงาน “ไทยฟุ้ง ปรุงไทย” (Thai Taste Thai Fest 2024) โดยมี น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการแถลงข่าว นางยุพา ทวีวัฒนกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีสวธ. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมศาสนา พร้อมผู้บริหาร ร่วมด้วยองค์กรภาคีและเครือข่ายวัฒนธรรม ร่วมงาน ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

น.ส.สุดาวรรณ กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายมุ่งขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม ซึ่งประเทศไทย มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าในหลากหลายด้าน ทุนทางวัฒนธรรม ถือเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ที่สามารถนำไปสร้างสรรค์ ต่อยอด พัฒนา ยกระดับให้เป็นพลังในการพัฒนาประเทศ มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความมั่นคง ทั้งยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ให้ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า การจัดงาน ไทยฟุ้ง ปรุงไทย (Thai Taste Thai Fest 2024) ในแนวคิด
“เลิศล้ำภูมิปัญญา เลอค่ารสชาติไทย” ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสวธ. สมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทย และศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างบทบาทและความภาคภูมิใจให้กับบุคคล ชุมชน องค์กร หน่วยงานรวมถึงกลุ่มผู้ปฏิบัติผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟู มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ ตามเจตจำนงแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 และเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในฐานะรัฐภาคีตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ค.ศ. 2003

ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้
​1.การมอบเกียรติบัตรให้กับชุมชนที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2566
2.การประชุมวิชาการ “วิจัยวัฒนธรรม ครั้งที่ 14” โดยมีการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ซอฟต์พาวเวอร์ในมิติพหุวัฒนธรรม”
3.การยกย่องเชิดชูเกียรติและมอบโล่รางวัลให้ บุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน องค์กร หรือหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2567
4.การมอบเกียรติบัตรให้วัฒนธรรมจังหวัดและผู้สาธิตอาหาร 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste ประจำปี 2567 ทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร
5.ชมการสาธิต มรดกภูมิปัญญาที่ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ อาทิ
การปักชุดไทย การแกะสลักผลตูมกา การสานปลาตะเพียนใบลาน การทอผ้าและการเขียนเทียนบนผ้าม้ง
การลงถมบนเครื่องประดับ

6. ชมนิทรรศการและการสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พุทธศักราช 2566 และ ชมนิทรรศการรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของประเทศไทย ได้แก่ ต้มยำกุ้ง และ มรดกวัฒนธรรมร่วมเคบายา ที่เข้าสู่วาระการพิจารณาเพื่อประกาศขึ้นทะเบียนของยูเนสโกในปลายปี 2567 นี้พลาดไม่ได้กับ ซุ้มสาธิต “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” จาก 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste) ประจำปี 2567 ที่เปิดให้ชม ชิมฟรี ภายในงานอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีความบันเทิงหลากหลาย มาสร้างบรรยากาศสีสันให้กับงาน เช่น แซ็ค ชุมแพ มาขับร้องเพลงลูกทุ่ง การแสดงพื้นบ้าน 4 ภูมิภาค คอนเสิร์ตลูกทุ่งโดยศิลปินแห่งชาติและศิลปินยอดนิยม อาทิ ชัยชนะ บุญนะโชติ ทศพล หิมพานต์ ศิรินทรา นิยากร กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ รุ่ง สุริยา การแสดงหนังตะลุง หมอลำอีสาน ลิเก คอนเสิร์ตเพลงลูกกรุง นำโดย สุดา ชื่นบาน วง สาว สาว สาว วินัย พันธุรักษ์ โตโต้ The Golden Song จอมขวัญ กัลยา ทั้งยังมีคอสเพลย์เยอร์ แนวศิลปวัฒนธรรมไทย ภายใต้ชื่อ “4 COS คอสเพลย์ 4 ภาค ไทยแลนด์” มาแสดงในงานนี้ และการแสดงเพลงพื้นบ้านชุดพิเศษ โดย น้าโย่ง เชิญยิ้ม ศิลปินแห่งชาติ ปีล่าสุด โอกาสนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน มาเที่ยวชมงาน และร่วมภาคภูมิใจในมรดก
ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของชาติ ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. เวลา 10.30 – 20.00 น. ที่ชั้น 1 ศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพมหานคร และสามารถติดตามข่าวสารทางวัฒนธรรมได้ทาง www.culture.go.th และ แฟนเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.facebook.com/DCP.culture

0 Shares

เปิด 5 นิยามความติดหรู พบคนส่วนใหญ่เข้าข่าย “หรูปริ่มน้ำ”

เปิด 5 นิยามความติดหรู พบคนส่วนใหญ่เข้าข่าย “หรูปริ่มน้ำ”

พร้อมเปิดที่สุดแบรนด์ขวัญใจ “ชาวลักซ์” ข้อมูล Social Listening กุมภาฯ – กรกฎาคม ลักชูรี่แบรนด์มีเอนเกจเมนท์บนโซเชียลมีเดียสูงถึง 56 ล้าน

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU เปิดกระแสตลาดสินค้าหรูยังโตแรง พร้อมเปิดผลวิจัย “เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์” โดยพบว่าผู้ชายติดลักซ์มากกว่าผู้หญิง Apple – Starbucks – Louis Vuitton – Dior เป็น 4 แบรนด์สุดโปรดครองใจชาวลักซ์ เจน X ติดลักซ์มากที่สุด ทั้งนี้ ยังมีการนำเสนอนิยามพฤติกรรมคนติดหรู 5 ประเภท ได้แก่ “หรูลูกคุณ” “หรูได้มีสติด้วย” “หรูเจียมตัว” “หรูเขียม” “หรูปริ่มน้ำ” โดยสาเหตุที่ทำให้คนไทยติดหรูเพราะต้องการการยอมรับ อยากแสดงสถานะทางสังคม และอยากโดดเด่น แตกต่าง นอกจากนี้ ยังแนะกลยุทธ์ “LUXE” พิชิตใจกลุ่มชาวลักซ์สายเปย์ สร้างแบรนด์ ลอยัลตี้ได้แบบอยู่หมัด รวมถึงเผยข้อมูล Social Listening ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม ที่ผ่านมาพบว่า Luxury Brand มี Engagement บนแพลตฟอร์ม Social Media สูงถึง 56 ล้าน

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวในงานสัมมนา “Unstoppable Luxumer เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์” ว่า ปัจจุบันคนไทยหันมาให้ความสนใจสินค้าหรูหรา ราคาแพง และบริการระดับพรีเมียมเพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์การบริโภคแบบ “ติดหรู ดู luxurious” เกิดเป็นเทรนด์ทางการตลาดที่น่าสนใจ แม้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก ผู้คนก็ยังจะพยายามหารางวัลให้กับชีวิต และตอบโจทย์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ โดย ‘ความลักซ์’ ไม่ได้อยู่แค่ในสินค้าแบรนด์เนมเท่านั้น แต่ยังแฝงอยู่ในสินค้าหมวดหมู่อื่น ๆ ตั้งแต่กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม กลุ่มเครื่องสำอาง สกินแคร์ กลุ่มอุปกรณ์เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งกลุ่มของสะสมต่าง ๆ เช่น Pop Mart ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ โดยผู้คนยอมจ่ายในราคาสูงเกินความเป็นจริง เพื่อให้ได้มาครอบครอง นอกจากนี้ กลยุทธ์การตลาด และการโฆษณาผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียก็มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้า และบริการระดับพรีเมียมเหล่านี้ เพื่อสะท้อนถึงภาพลักษณ์ ความสุข ความสำเร็จ และการเป็นที่ยอมรับ ซึ่งส่งผลให้ตลาดสินค้าหรูในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว

จากกระแสดังกล่าวทำให้เกิดเทรนด์ผู้บริโภคที่เรียกว่า LUXUMER โดยมาจากคำว่า “Luxury” และ “Consumer” ซึ่งหมายถึง กลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบ และให้ความสำคัญกับสินค้า หรือบริการระดับพรีเมียมที่เน้นความหรูหราเป็นพิเศษ อาจเป็นได้ทั้งการบริโภคสินค้าหรู เช่น เสื้อผ้าหรือกระเป๋าแบรนด์เนม การเดินทางท่องเที่ยวด้วยสายการบินระดับ Business Class หรือที่พักระดับ 5 ดาว รวมไปถึงไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีราคาสูงกว่าแบรนด์อื่น ๆ ในหมวดผลิตภัณฑ์เดียวกัน โดยเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการ และนักการตลาดควรจับตาเป็นพิเศษ เพราะหากสามารถสร้างสินค้า หรือบริการที่ LUXUMER พึงพอใจ และประทับใจได้ก็จะกลายเป็นโอกาสทองของธุรกิจทันที เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้มักให้คุณค่า และความสำคัญกับการบริโภคสิ่งของเพื่อภาพลักษณ์ และความสุขมากกว่าคนทั่วไป และโดยส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงราคาเป็นปัจจัยหลัก

ผศ.ดร.บุญยิ่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้รู้จักและเข้าใจ LUXUMER มากยิ่งขึ้น CMMU จึงได้จัดทำงานวิจัย “Unstoppable Luxumer เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์” เพื่อศึกษาทัศนคติ พฤติกรรม แรงจูงใจ และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และบริการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ และเพื่อให้ผู้ประกอบการ และนักการตลาดสามารถนำไปออกแบบกลยุทธ์ที่จะสามารถพิชิตใจ และตอบสนองความต้องการของชาวลักซ์ได้ในอนาคต

จากผลการสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรม “ติดลักซ์” โดย 31% มีความติดลักซ์อยู่ในระดับมาก อีก 6% มีความติดลักซ์อยู่ในระดับมากที่สุด และผู้ชายมีความติดลักซ์มากกว่าผู้หญิง โดยประเภทสินค้าที่ผู้ชายติดลักซ์ซื้อบ่อยที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์เทคโนโลยี ของผู้หญิง ได้แก่ อาหาร และเครื่องดื่ม สำหรับแบรนด์ที่ผู้ชายติดลักซ์นิยมซื้อมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Apple (กลุ่มอุปกรณ์เทคโนโลยี) Louis Vuitton (กลุ่มเครื่องแต่งกาย และแฟชั่น) และ Starbucks (กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม) สำหรับผู้หญิง ได้แก่ Starbucks (กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม) Dior (กลุ่มเครื่องสำอาง/น้ำหอม/สกินแคร์) และ Dior (กลุ่มเครื่องแต่งกาย และแฟชั่น)

แต่หากแบ่งตามกลุ่มเจนเนอเรชั่น พบว่า ประเภทสินค้าที่คนติดลักซ์นิยมซื้อมากที่สุดใน Gen Z, Gen Y และ Baby Boomer คือ กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม ในขณะที่ Gen X นิยมซื้อเครื่องแต่งกาย และแฟชั่นมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบอีกว่า Gen X มีความสนใจในสินค้าหรูหรามากที่สุดเมื่อเทียบกับเจนอื่น ๆ ตามมาด้วย Gen Z, Gen Y และ Baby Boomer ตามลำดับ โดยในจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดพบว่า 54% มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน 50% มีเงินเก็บน้อยกว่าหกเดือน ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าชาวลักซ์จำนวนมากยอมควักเงินซื้อสินค้าหรูมากถึง 10 – 30% ของรายได้ต่อเดือน

ทางด้านผลการวิเคราะห์ข้อมูล Social Listening จากการจัดทำร่วมกันโดย CMMU และ Wisesight (ประเทศไทย) พบว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2567 ยังเผยให้เห็นว่าผู้บริโภคให้ความสนใจ Luxury Brand บนโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก โดยมี Engagement บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสูงถึง 56 ล้าน กรุงเทพ ฯ ครองแชมป์พื้นที่ที่มีความลักซ์รวมตัวกันมากที่สุดบนโซเชียลมีเดียถึง 56.9% เมื่อแบ่งตามประเภทสินค้าพบว่าในกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มี Engagement สูงสุด 3.2 ล้าน ซึ่งอาจหมายความว่า ชาวลักซ์ในกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มมักให้ส่วนร่วมกับคอนเทนต์ประเภท Short Video มากกว่าประเภทบทความ หรือรูปภาพ แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มเครื่องสำอาง และสกินแคร์กลับได้รับ Engagement รวมสูงสุด 3.5 ล้านจากช่องทาง Instagram นั่นหมายความว่า ชาวลักซ์ที่ชื่นชอบในหมวดนี้ให้ความสำคัญกับ Content ในรูปแบบรูปภาพมากที่สุด

ด้านนางสาวชุติภา มั่นวาจา หัวหน้าทีมวิจัย และทีมนักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์เชิงลึกถึงพฤติกรรมของชาวลักซ์พบว่าแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก ได้แก่

· “หรูลูกคุณ” พบ 2% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการบริโภคสินค้าหรูได้แบบ ไม่จำกัด มีเงินออมสูง เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย สามารถใช้จ่ายสินค้าหรูหราได้อย่างไม่ต้องกังวล
· “หรูได้มีสติด้วย” พบ 6% เป็นกลุ่มที่มองหาความคุ้มค่าในการบริโภคสินค้าหรู มีรายได้สูง และเงินออมมากกว่า 5 ปี แม้จะมีกำลังซื้อสูงแต่ก็ไม่ตัดสินใจซื้อแบบทันทีแต่จะพิจารณาความคุ้มค่า เช่น การมองหาโปรโมชั่น และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับสูงสุด
· “หรูเจียมตัว” พบ 24% เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการบริโภคสินค้าหรูเป็นครั้งคราว มีรายได้ และเงินออมปานกลาง ก่อนตัดสินใจซื้อแต่ละครั้งจะต้องวางแผนทางการเงิน และพิจารณาอย่างรอบคอบ
· “หรูเขียม” พบ 28% เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการบริโภคสินค้าหรูแบบจำกัด มีรายได้ และเงินออมไม่สูง แต่จะวางแผนประหยัดอดออมเพื่อให้ได้สินค้าหรูมาครอบครอง โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะให้ความสำคัญกับกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่ม โดยเป็นการบริโภคเพื่อให้รางวัลกับตัวเอง และกลุ่มสุดท้าย
· “หรูปริ่มน้ำ” พบมากที่สุดถึง 40% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการบริโภคสินค้าหรูเป็นชีวิตจิตใจ ชอบซื้อสินค้าที่อยู่ในกระแส มีรายได้ และเงินออมไม่สูงมากนัก แต่ชอบใช้จ่ายแบบไม่ค่อยยั้งคิด

นางสาวชุติภา ยังเปิดเผยอีกว่า สาเหตุที่ทำให้คนติดลักซ์นั้นมี 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ อันดับ 1 อยากให้คนอื่นยอมรับและอยากแสดงสถานะทางสังคม และ อันดับ 2 อยากโดดเด่น แตกต่าง และไม่ซ้ำใคร โดยผู้ชายอยากได้รับการยอมรับ และชอบความโดดเด่นมากกว่าผู้หญิง และ Gen Y อยากโดดเด่น แตกต่าง ไม่ซ้ำใคร มากกว่า Gen Z ดังนั้นการจะจับจุดให้โดนใจกลุ่มชาวลักซ์ได้ผู้ประกอบการ และนักการตลาดจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่เรียกว่า LUXE Strategy ประกอบด้วย

· Lifestyle (L): การสร้างภาพลักษณ์ที่หรูหรา และสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ที่มีระดับ
· Uniqueness (U): การสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และแตกต่าง ไม่ซ้ำใคร และไม่สามารถหาได้จากแบรนด์อื่น
· Experience (X): การสร้างประสบการณ์สุดพิเศษ เหนือระดับ น่าประทับใจให้กับผู้บริโภค
· Endorsement (E): การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือผู้ทรงอิทธิพล (Influencer) มาช่วยดึงดูดความสนใจ สร้างความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์

ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดสัมมนาการตลาด “Unstoppable Luxumer เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์” นอกจากจะมีอาจารย์ และนักศึกษาปริญญาโทจาก CMMU มาร่วมเผยแพร่วิเคราะห์ผลงานวิจัยแล้ว ภายในงานยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในวงการดิจิทัล และการวิเคราะห์ข้อมูล อาทิ คุณต่อ – พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท จาก Wisesight (ประเทศไทย) รวมถึงผู้บริหารจากกลุ่มสินค้า และบริการไฮเอนด์ของเมืองไทย คุณหมอต่อ – นพ.ภาณุพงศ์ ภัทรกุลทวี ผู้ร่วมก่อตั้ง Dermatige Aesthetics และ คุณไปป์ – บรม วิชญะเดชา CEO ผู้ก่อตั้งแบรนด์ BOROM แบรนด์น้ำหอมหรูสุดพรีเมียม ณ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปชมย้อนหลังได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/mkcmmu

0 Shares

สวพส. คว้ารางวัล “เกียรติยศเลิศรัฐ” เป็นองค์กรต้นแบบที่สร้างคุณค่า สร้างสรรค์ผลงานที่ตอบโจทย์ชุมชนบนพื้นที่สูง

สวพส. คว้ารางวัล “เกียรติยศเลิศรัฐ” เป็นองค์กรต้นแบบที่สร้างคุณค่า สร้างสรรค์ผลงานที่ตอบโจทย์ชุมชนบนพื้นที่สูง

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) มีมติมอบรางวัลให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานเป็นเลิศในการสร้างสรรค์ผลงานการปฏิบัติราชการจนมีความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุด “รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ” ประจำปี 2567 และรางวัลเลิศรัฐสาขาอื่น ๆ รวม 7 รางวัล เป็นองค์กรที่มีความโดดเด่นได้รับรางวัลเลิศรัฐอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นแบบที่สร้างคุณค่าในการสร้างสรรค์ผลงานการปฏิบัติงานจนมีความสำเร็จอย่างยั่งยืน

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสวพส. กล่าวว่า สวพส. เป็น 1 ใน 3 หน่วยงาน ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ ประจำปี 2567 จากสำนักงาน ก.พ.ร.ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวพส. มุ่งสืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ภายใต้หลักการพัฒนาทางเลือกบนพื้นที่สูง (UNGPs on AD) ขยายผลสำเร็จสู่ชุมชนบนพื้นที่สูงที่ห่างไกลและทุรกันการของประเทศไทย ให้ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกภาคเกษตร แก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ได้รับโอกาสอย่างเสมอภาค สนับสนุนชุมชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน และร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วน ตลอดจนการมุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้บริบทและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงให้คนสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เป็นผลให้ สวพส. ได้รับรางวัลเลิศรัฐสาขาอื่นๆ รวม 7 รางวัล ได้แก่

1. รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ
2. รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทขับเคลื่อนเห็นผล 2 รางวัล ได้แก่ ชุมชนคาร์บอนต่ำ กุญแจสำคัญ ลดโลกร้อน และผู้นำสตรี สิทธิเท่าเทียมชาย
3. รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น ประเภทร่วมใจแก้จน 2 รางวัล ได้แก่ ภูมิปัญญา (หัตถกรรม) แก้จน คนบนดอย และไม้ผลกินได้ สร้างป่า สร้างเงิน แก้จนคนสะเนียน
4. รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม 1 รางวัล ได้แก่ Smart Farm คนจน ต้นเขื่อนสิริกิติ์
5. รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับก้าวหน้า (Advance)
รางวัลที่ สวพส. ได้รับ ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดและจะเป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ชุมชน ตลอดจนหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดย สวพส. จะไม่หยุดพัฒนาองค์กรเพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชนบนพื้นที่สูงสืบไป

0 Shares

วช. เปิดตัวนิทรรศการ “ภาพบันดาล Art Decoded” ผสานศิลปะและพาณิชย์ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

วช. เปิดตัวนิทรรศการ “ภาพบันดาล Art Decoded” ผสานศิลปะและพาณิชย์ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานเปิดนิทรรศการ “ภาพบันดาล Art Decoded” เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า) ซึ่งเป็นการนำผลงานศิลปะของศิลปินชื่อดังมาตีความใหม่ สู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นายกสมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย กล่าววัตถุประสงค์การดำเนินโครงการและกล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายเจษฎา ชีวะวิชวาลกุล รองอธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารสำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และศิลปินแห่งชาติ เข้าร่วมงานฯ

ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า “นิทรรศการภาพบันดาล (Art Decoded) นับเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติและการศึกษาต้นแบบสินค้าที่ระลึกภายในพิพิธภัณฑ์เพื่อต่อยอด สู่สินค้าเชิงพาณิชย์จากฐานทุนวัฒนธรรมของไทย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากวช. นิทรรศการนี้เป็นการนำผลงานของศิลปินชื่อดังทั้งไทยและต่างประเทศ มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยนักออกแบบไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของศิลปะในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นิทรรศการยังจะนำเสนอความงดงามของมรดกทางวัฒนธรรมไทย และศึกษาถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมไทยที่มีต่อศิลปะและการออกแบบ ซึ่งเป็นการย้ำเตือนถึงรากเหง้าของความเป็นไทยที่ยังคงมีคุณค่าและน่าสนใจอยู่เสมอ และสุดท้ายจะได้สำรวจศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และสร้างงาน ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะและหัตถศิลป์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ

รศ.ดร.น้ำฝน กล่าวว่า นิทรรศการภาพบันดาล Art Decoded คือการถอดสุนทรียะจากเรื่องราวและผลงานของศิลปินแนวหน้า โดยนำมาเป็นแรงบันดาลใจและสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ที่สามารถสัมผัสได้ในรูปแบบของต้นแบบสินค้าที่ระลึก ผ่านการออกแบบและนำเสนอความงดงามแบบใหม่ที่ต่อ
ยอดจากผลงานของศิลปิน

นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติและศึกษาต้นแบบสินค้าที่ระลึกภายในพิพิธภัณฑ์เพื่อต่อยอดสู่สินค้าเชิงพาณิชย์จากฐานทุนวัฒนธรรมของไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานทางศิลปกรรม กับการพัฒนาอุตสาหกรรมงานออกแบบหัตถกรรมไทย และสรรค์สร้างต้นแบบสินค้าที่ระลึกทีมีคุณค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ของไทยไปสู่เวทีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลก โดยมีผลงานจากศิลปินแนวหน้าทั้ง 11 ท่านที่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดสุนทรียะและเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เป็นต้นแบบสินค้าที่ระลึกใหม่ ได้แก่ศ. (เกียรติคุณ) ปรีชา เถาทอง, Emer. Prof. Peter Pilgrim, ศ. (เกียรติคุณ) ปริญญา ตันติสุข,รศ. ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ, คุณสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์, ศ. สุธี คุณาวิชยานนท์, คุณชลิต นาคพะวัน, รศ. กันจณา ดำโสภี, ผศ. ชัยพร ระวีศิริ, Konstantin Ikonomidis และคุณยุรี เกนสาคู

กิจกรรมภายในงานยังมีการบรรยาย ในหัวข้อ “การสร้างคุณค่าในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เทียบเท่ากับระดับสากล” โดย V.ronique Delignette-Schilling ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้บริหาร (Executive MBA) ด้านการจัดการแฟชั่นระดับโลกที่French Institute of Fashion (IFM) สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาและการวิจัยประยุกต์สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น สินค้าหรูหรา การออกแบบและอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วไป ในปี 2017 IFM ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 1 ของโลกสำหรับหลักสูตรปริญญาโทด้านธุรกิจแฟชั่น และอันดับ 2 ของโลกสำหรับหลักสูตรปริญญาโทด้านการออกแบบแฟชั่นในประเทศ

นิทรรศการ “ภาพบันดาล Art Decoded” เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 27 ก.ย. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า)

0 Shares

บริติช เคานซิล สนับสนุนผู้หญิงไทยสู่เส้นทางอาชีพสาย STEM

บริติช เคานซิล สนับสนุนผู้หญิงไทยสู่เส้นทางอาชีพสาย STEM

มุ่งยกระดับความเท่าเทียม เสมอภาคในสังคมโลกอย่างยั่งยืน

ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ส่งผลให้การศึกษาในสาขา STEM ซึ่งประกอบด้วยสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและครอบคลุม การเข้าถึงและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันของผู้คนทั่วโลกในสาขาอาชีพสาย STEM จึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในปี 2030 ของสหประชาชาติ

แม้กระนั้น เส้นทางการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวยังคงมีความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเป้าหมายข้อ 4 ประเด็นการส่งเสริมให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันและส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป้าหมายข้อ 5 ประเด็นการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศและเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน

จากรายงานของธนาคารโลกในปี 2020 แม้ว่าผู้หญิงจะมีอัตราการสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สูงกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงมีโอกาสน้อยกว่าที่จะศึกษาต่อในสาขา STEM โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และฟิสิกส์ ส่งผลให้ทั่วโลกมีสัดส่วนผู้หญิงในสายงาน STEM น้อยกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งขัดแย้งกับความคาดหวังที่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีความเท่าเทียมทางเพศมากกว่า

ข้อมูลจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ระบุว่า ปัจจุบันมีนักวิจัยทั่วโลกที่เป็นผู้หญิงน้อยกว่า 30% และมีนักศึกษาหญิงเพียง 30% ที่เลือกศึกษาต่อในสาขา STEM สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางประเทศ เช่น เมียนมาร์ อาเซอร์ไบจาน ไทย และจอร์เจีย ซึ่งมีจำนวนนักวิจัยหญิงในสัดส่วนที่สูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความพยายามในการลดช่องว่างทางเพศในสายงาน STEM นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง

สำหรับประเทศไทย สัดส่วนผู้หญิงในสายงาน STEM นับว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า บุคลากรในสายงาน STEM ประกอบด้วยผู้หญิงในสัดส่วนเฉลี่ยถึง 45% ของ โดยแบ่งเป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 52% นักวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 48% นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร 47% และนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข 51% ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในสายงาน STEM อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกยังคงต้องร่วมมือกันเพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศ และสนับสนุนให้ผู้หญิงกล้าที่จะก้าวเข้าสู่สายอาชีพด้าน STEM มากขึ้น
ด้วยพันธกิจส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ บริติช เคานซิล มุ่งยกระดับบทบาทของผู้หญิงในสายงาน STEM ผ่านหลากหลายโครงการทั่วโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและโอกาสให้กับผู้หญิงสู่การเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

มร. แดนนี่ ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า “การส่งเสริมความเท่าเทียมและการสนับสนุนการศึกษาแก่ผู้หญิงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะความหลากหลายในที่ทำงานจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดจากมุมมอง และไอเดียที่หลากหลาย ซึ่งล้วนนำไปสู่ความก้าวหน้าทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และในด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ค่านิยมของความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการรวมกลุ่ม เป็นหัวใจสำคัญที่สหราชอาณาจักร และบริติชเคานซิล ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเราภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในประเทศไทยเพื่อจัดการกับความท้าทายที่สำคัญเหล่านี้”
หนึ่งในโครงการสำคัญที่ บริติช เคานซิล ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ โครงการทุนการศึกษา Women in STEM ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักร จัดขึ้นในปีนี้เป็นปีที่ 4 โดยมอบทุนให้กับนักศึกษาหญิงจากประเทศไทย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการเพิ่มพูนโอกาสทางการศึกษาและการวิจัยในสาขา STEM ให้กับผู้หญิง

ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กำกับดูแลฝ่ายความร่วมมือต่างประเทศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในพันธมิตรหลักของบริติช เคานซิล ในการจัดโครงการทุนการศึกษา Women in STEM ในปีนี้ กล่าวว่า “ปัจจุบัน จำนวนผู้หญิงในสายอาชีพ STEM ทั่วโลกยังมีค่อนข้างน้อย จากข้อมูลของรายงาน Cracking the code: girls’ education in STEM โดยยูเนสโก้ในปี 2017 เผยว่า มีผู้หญิงเพียง 17 คนทั่วโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ เคมี หรือการแพทย์ ในขณะที่ผู้ชายมีถึง 572 คน และในบรรดานักวิจัย มีเพียง 30% ที่เป็นผู้หญิง ฉะนั้นการสนับสนุนผู้หญิงให้มีการศึกษาในสาย STEM มากขึ้นจึงเป็นการเสริมสร้างความหลากหลาย และย่อมมีผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอนาคต”
สำหรับในปี 2567 นี้ มีนักศึกษาไทยได้รับทุนการศึกษา Women in STEM เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักรจำนวน 3 ทุน จากสองโครงการ คือ โครงการทุน ASEAN-UK SAGE (Supporting the Advancement of Girls’ Education) และทุน British Council Women in STEM โดยทั้งสองโครงการมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในการเข้าถึงการศึกษาในสาขา STEM
โครงการ ASEAN-UK SAGE เป็นโครงการด้านการศึกษาหลักของสหราชอาณาจักรในอาเซียน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ขั้นพื้นฐานด้านการอ่านออกเขียนได้และการคำนวณ สนับสนุนเยาวชนหญิงและกลุ่มชายขอบให้เข้าถึงการศึกษา และก้าวข้ามอุปสรรคในการพัฒนาทักษะดิจิทัลและโอกาสในการทำงาน เพื่อเสริมศักยภาพให้กับเยาวชนหญิงได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เปิดรับสมัครนักศึกษาหญิงจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงติมอร์-เลสเต
ขณะที่ทุน British Council Women in STEM เป็นการมอบทุนการศึกษามากกว่า 100 ทุนทั่วโลก เพื่อการศึกษาปริญญาโทหรือ Early Academic Fellowship จากมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร และต่อยอดโอกาสพัฒนาอาชีพในสาขา STEM ต่อไป เปิดรับสมัครนักศึกษาหญิงจากเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก ยุโรป และอเมริกา

ปุณณภา ยศวริศ ซึ่งได้รับทุน ASEAN-UK SAGE เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทในหลักสูตร MSc Climate Change, Management and Finance มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า “ทุนการศึกษานี้เปรียบเสมือนประตูสู่โอกาสสำคัญในชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอาชีพในสายงาน STEM สำหรับดิฉัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องการนวัตกรรมที่ผสานองค์ความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และธุรกิจเข้าด้วยกัน จึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทสาขา Climate Change, Management and Finance ด้วยเหตุผลหลัก ๆ 3 ประการ นั่นคือ เป็นหลักสูตรแบบสหวิทยาการ ผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศและรากฐานทางธุรกิจ ช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริงในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือกับ Grantham Institute ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้เรียนรู้จากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว และสามารถต่อยอดสู่เส้นทางอาชีพที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน สอดคล้องกับความสนใจและเป้าหมายในการทำงาน รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย”

สำหรับผู้ที่ได้รับทุน British Council Women in STEM ในปีนี้ คือ ธันย์ชนก นวลพลกรัง ซึ่งจะไปศึกษาต่อในสาขา MSc Biotechnology (Healthcare Biotechnologies) มหาวิทยาลัยบาธ และ ทิพย์วิมล จุลหาญกิจ ศึกษาต่อในสาขา MSc Biotechnology (Healthcare Biotechnologies) มหาวิทยาลัยบาธ

0 Shares

สวธ. จัดงานเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ ศ.เกริก ยุ้นพันธ์

สวธ. จัดงานเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ ศ.เกริก ยุ้นพันธ์

ชวนน้องๆ เยาวชนท่องโลกหนังสือเด็ก สนุกสนานกับแหล่งเรียนรู้ ที่พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์ พระนครศรีอยุธยา
​​
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) โดยกองกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ ศ.เกริก ยุ้นพันธ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๖๕ พาน้องๆ นักเรียน เยาวชน ประชาชนทั่วไป ท่องโลกวรรณกรรม สนุกสนานกับหนังสือเด็ก และตื่นตาตื่นใจกับแหล่งรวมของเล่นมากมาย ณ พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์ เลขที่ ๔๕ หมู่ที่ ๒ ถนนอู่ทอง ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
(๒๙ ส.ค.เวลา ๑๔.๐๐ น.) พิธีเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ ศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ ได้รับเกียรติจากนายประสพ เรียงเงิน อธิบดีสวธ. นางนุชนาถ วสุรัตน์ กรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหารส่วนจังหวัด นายเฉลิม อภิวาท รองประธานสภาวัฒนธรรม นางอุษณี สุวิบาย ประธานสภาวัฒนธรรมอ.เสนา พร้อมคณะสภาวัฒธรรมจ.พระนครศรีอยุธยา ผู้แทนวัฒนธรรมจังหวัด นักเรียน นักศึกษา เยาวชน คนรักงานวรรณศิลป์ พร้อมเครือข่าย ร่วมงานและชมนิทรรศการประวัติรวมถึงผลงานวรรณกรรมสำหรับเด็ก ที่หอศิลป์ ครูเกริก ยุ้นพันธ์ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์ แสดงของสะสมอันมีคุณค่าและหาชมได้ยาก พร้อมรับชมการแสดงทางวัฒนธรรมในงาน อีกด้วย

นายประสพ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ ได้เปิดพื้นที่ของบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์ และหอศิลป์ครูเกริก ยุ้นพันธ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะและวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจด้านศิลปะ ให้แก่เด็ก เยาวชน เกิดความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนา ต่อยอด ให้เกิดผลงานทางศิลปะในรูปแบบใหม่ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดผลงานด้านศิลปะและงานด้านวรรณกรรมต่อไป

ด้านนางนุชนาถ กล่าวว่า กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ที่มีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมงานวัฒนธรรม โดยการระดมทุน ส่งเสริม เผยแพร่องค์ความรู้ และผลงานของศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม และผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ดำเนินงานทางวัฒนธรรม ทั้งบุคคล องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังให้วัฒนธรรมของชาติได้พัฒนาสืบสานอย่างเหมาะสม ให้ประชาชนมีความชื่นชม ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของชาติ โดยบ้านของศิลปินแห่งชาติ เป็นแหล่งสั่งสมองค์ความรู้ภูมิปัญญา และเป็นสถานที่สร้างผลงานอันล้ำค่า สมควรที่จะเผยแพร่ให้เป็นแหล่งศึกษา สร้างเสริมทักษะ และถ่ายทอดประสบการณ์จากศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ของชาวไทยและนักท่องเที่ยว

​“การเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ อาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ ในครั้งนี้ เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับเด็ก เยาวชน นักเรียน และประชาชนที่สนใจตลอดมา และเชื่อว่าบ้านศิลปินแห่งชาติหลังนี้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งด้านศิลปะและวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน อยู่คู่กับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสังคมไทยสืบไป” นางนุชนาถ กล่าว

ศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๖๔ เคยรับข้าราชการเป็นอาจารย์ มากว่า ๓๕ ปี เคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาวิชาเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และ สารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และยังเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นศิลปินที่มุ่งมั่นสร้างผลงานวรรณศิลป์ประเภทหนังสือบันเทิงคดีและสารคดีสำหรับเด็ก โดยมีแนวคิด สนุก สร้างสรรค์ สื่อสาร สวยงาม และส่งเสริมทัศนคติที่ดี


อันได้แก่ ความดี ความงาม และความรัก มีลักษณะสืบสานความเป็นไทย และความเป็นสากล ผ่านกลวิธีนำเสนอที่สอดคล้องกับความเป็นหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน โดยได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศาสตราจารย์เกริก ได้พัฒนาและสร้างคุณูปการ ให้วงการวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนของไทย ด้วยการถ่ายทอดความรู้และความสามารถด้านวรรณกรรมสำหรับเด็กที่มีคุณภาพและคุณค่า เสริมสร้างจินตนาการ และทัศนคติที่ดี รวมทั้งความบันเทิงให้แก่เด็ก และเยาวชนไทย เพื่อพัฒนาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์แก่เด็ก ในการสร้างสังคมไทยแบบยั่งยืน

หอศิลป์ครูเกริก ยุ้นพันธ์ เป็นหอศิลป์ที่จัดแสดงผลงานศิลปะของ ศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ จำนวน
๔๕๐ ชิ้นผลงาน โดยแบ่งลักษณะผลงานออกเป็น ๑.การแสดงผลงานศิลปะนาอีฟ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๐ – ปัจจุบัน
๒. การแสดงผลงานต้นฉบับหนังสือสำหรับเด็ก ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๕ – ปัจจุบัน เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ต่อเนื่อง
จนได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
และ ศิลปะนาอีฟ หมายถึง การแสดงออกทางศิลปะโดยไม่อิงหลักทฤษฎีองค์ประกอบภาพ ศิลปะนาอิฟจึงมีลักษณะเสมือนภาพวาดไร้เดียงสา เป็นภาพไร้มายา หรือ ภาพเสมือนเด็กวาด โดยมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปิน

พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์ (Million Toy Museum by Krirk Yoonpun) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับของเล่นสำหรับเด็กและข้าวของเครื่องใช้ ของคนไทยและของคนต่างชาติ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีความเชื่อกันว่าพิพิธภัณฑ์ เป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาคนนอกจากการอ่านหนังสือ การรับประทานอาหาร การเดินทางท่องเที่ยว และการฟังดนตรีดีดี พิพิธภัณฑ์นี้ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ให้คุณภาพทางความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ และมีผลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ประสานสอดคล้องกับอดีตที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น เกิดจากแรงบันดาลใจที่ศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ ได้ไปเห็น พิพิธภัณฑ์ของคิตาฮารา ณ เมืองฮาโกเน่ ชานกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์ ที่ได้เห็นเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเกี่ยวกับของเล่น มีของเล่นที่ทำจากดิน หิน กระดาษ แก้ว กระเบื้อง ตะกั่ว เขซลลูลอยด์ สังกะสี และพลาสติก ของเล่นที่น่าสนใจเป็นของเล่น ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ ของเล่นที่มีอายุเก่าแก่เป็นร้อยปี อย่างเช่น เซลลูลอยด์และสังกะสี มีชนิดไขลาน หยิบจับ ผลักไสและใส่ถ่าน มีทั้งของเล่นที่เป็น เด็กหญิงและเด็กชาย


พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นฯ ตั้งอยู่ที่ ๔๕ หมู่ ๒ ถนนอู่ทอง ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑๓๐๐๐ ตั้งอยู่ตรงแยกอ่างทอง (แยกโรงเรียนประตูชัย) บนเกาะอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เปิดให้บริการวันอังคาร – วันอาทิตย์ และทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. (หยุดวันจันทร์) กิจกรรมพิเศษ กิจกรรมเล่า เล่น ร้อง นิทาน และวาดภาพระบายสี สำหรับคณะนักเรียน ติดต่อ
๐๘๑ ๘๙๐ ๕๗๘๒

0 Shares

สวพส. ขับเคลื่อนภูมิปัญญาหัตถกรรม ดัน Soft Power เครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งในเชิงวัฒนธรรม

สวพส. ขับเคลื่อนภูมิปัญญาหัตถกรรม ดัน Soft Power เครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งในเชิงวัฒนธรรม

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ดำเนินงานส่งเสริมหัตถกรรมชนเผ่าบนพื้นที่สูงภูมิปัญญาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและความสวยงาม สืบสานส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เกิดอาชีพ เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่คนในชุมชน โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมให้มีมูลค่าเพิ่ม ขับเคลื่อน Soft Power เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งในเชิงวัฒนธรรม จนนำไปสู่การสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในหลายกลุ่ม

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า คนบนพื้นที่สูงมีรายได้หลักจากภาคการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินและความยากจน ผลจากการดำเนินงานส่งเสริมอาชีพนอกภาคเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนางานหัตถกรรม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนเผ่า โดยในระยะที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรใน 23 ชุมชน จำนวน 19,439,477 บาท สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนบนพื้นที่สูงได้อย่างเพียงพอ ช่วยแก้ปัญหาความยากจน เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่าที่มีเอกลักษณ์ สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) ของรัฐบาล โดยผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากภูมิปัญญาชนเผ่า ถือเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ในการสร้างสรรค์งานและการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เยาวชนรุ่นใหม่นำเข้ามาเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าให้แก่คนทั่วไปผ่านทางการสื่อสารแบบออนไลน์ต่าง ๆ

ผลจากการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจน ในการขยายองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของ สวพส. ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนบนพื้นที่สูงให้อยู่ดีมีสุข เกิดชุมชนต้นแบบสร้างมูลค่าเพิ่มภูมิปัญญาชนเผ่า “Soft Power” จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมย้อมสีธรรมชาติบ้านปางแดงใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้รับพระราชทานลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ“ จากพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบในการปักลายบนผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ให้สร้างสรรค์งานหัตถกรรม สืบสาน อนุรักษ์อัตลักษณ์และวัฒนธรรมชนเผ่า ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ปรับเปลี่ยนแนวความคิดที่จะย้ายกลับถิ่นฐาน

จึงเป็นก้าวสำคัญที่ตอบโจทย์ว่า เมื่อคนรุ่นใหม่กลับบ้านแล้วจะทำอะไร เพราะคนเหล่านี้เรียกว่าเป็นคนสองวัฒนธรรมคือ รู้จักข้างนอกและข้างใน และเป็นคนขับเคลื่อนหลักในชุมชน อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุในชุมชนจะกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญที่มีความรู้ ความชำนาญจากภูมิปัญญาดั้งเดิม ก่อให้เกิดความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

ชุมชนบ้านปางแดงในเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำงานหัตถกรรมที่เป็นอาชีพนอกภาคการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และสร้างสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ สวพส. ยังมีการดำเนินงานขยายผลไปยังพี้นที่อื่นๆ เช่น กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงทีคีอมก๋อย “TeeKee Omkoi” ของกลุ่มหัตถกรรมบ้านห้วยปูหลวง ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่แฮหลวง ในการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นอัตลักษณ์ตามภูมิสังคมของพื้นที่นั้นๆ และกลุ่มแม่บ้าน/ผู้สูงอายุบ้านแม่สายนาเลา ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด ร่วมกับโครงการวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและแปรรูปเฮมพ์ โดยนำเส้นด้ายเฮมพ์ผสมกับฝ้ายที่ปั่นแบบอุตสาหกรรมและนำมาให้กลุ่มทดลองทอเป็นผืนผ้าด้วยกี่เอว และได้ต่อยอดจากการย้อมสีธรรมชาติ ไปยังการอนุรักษ์ป่าที่มีไม้ที่ใช้ในการย้อม รวมถึงการพัฒนากระบวนการย้อมสีธรรมชาติที่ช่วยลดการเกิดมลพิษ ตลอดจนประสานงานด้านการตลาด เพื่อหาช่องทางตลาดสินค้าหัตถกรรมและส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ กล่าวอีกว่า งานหัตถกรรมชนเผ่าซึ่งทำจากวัสดุทางธรรมชาติ ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม ระบบนิเวศน์ของชุมชน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชนเกิดความหวงแหนและตระหนักถึงความสำคัญของป่าที่เป็นวัตถุดิบสำคัญช่วยต่อยอดสู่ภูมิปัญญาดั้งเดิมและสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป

0 Shares