เจาะลึกอินไซต์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชันไทย ผ่านโครงการ Content Lab 2024 ปีที่ 2 ดันคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดสากล
กระแส ‘Hallyu’ หรือ ‘Korean Wave’ อาจเคยครองใจผู้ชมทั่วโลก แต่ปัจจุบัน ‘คอนเทนต์ไทย’ กำลังผงาดขึ้นมาท้าชนอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์วายที่โด่งดังไปทั่วเอเชียและแถบอเมริกาใต้ เช่น คั่นกู, SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง, แฟนผมเป็นประธานนักเรียน ฯลฯ จนสื่อระดับโลกอย่าง The Economist และ Nikkei จับตาซีรีส์วายของไทยมีศักยภาพเติบโตเทียบเท่าวงการ ‘K-POP’ ของประเทศเกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์ผีไทยที่สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ชมในประเทศและต่างประเทศ เช่น ร่างทรง หนังผีไทยจากการร่วมมือกันระหว่าง GDH ประเทศไทย และ SHOWBOX ค่ายหนังจากประเทศเกาหลีใต้, แดนสาป The Cursed Land ที่ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ อย่างเทศกาลภาพยนตร์ Bucheon International Film Festival ที่ประเทศเกาหลีใต้ และเทศกาล New York Asian Film Festival เป็นต้น รวมถึงภาพยนตร์ หลานม่า ที่กวาดรายได้ทั่วเอเชียกว่า 1,000 ล้านบาท และ วิมานหนาม ที่ได้รับเลือกให้ฉายเป็น International Premiere ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต 2567 ที่ประเทศแคนาดา ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสครั้งสำคัญที่รออยู่เบื้องหน้าว่า ‘อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย’ อาจเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยนำทุนทางวัฒนธรรมของไทย ส่งออกไปสู่สายตาของผู้ชมทั่วโลกได้อย่างมหาศาล
นอกจากนี้ ‘อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย’ ยังเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่สายตาชาวต่างชาติ หากสำรวจในมุมของเศรษฐกิจ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Information Center: CIC) โดย CEA ในปี 2564 พบว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ได้แก่ การกระจายเสียง ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การพิมพ์ และซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน) มีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านบาท ดังนั้นหากคอนเทนต์ของไทยได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น อาจมีแนวโน้มเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องได้
ตลอดจนช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจในภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น ฯลฯ และด้วยศักยภาพของบุคลากรไทยที่สามารถรังสรรค์ผลงานที่เต็มไปด้วยความโดดเด่น ผสานความคิดสร้างสรรค์ และการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจและหลากหลาย ยิ่งทำให้เชื่อมโยงความรู้สึกกับผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น ส่งผลให้คอนเทนต์ไทยสามารถเรียกกระแสผู้ชมในประเทศให้เพิ่มขึ้น ตลอดจนได้รับความนิยมจากตลาดโลกและสามารถขยายฐานผู้ชมในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
โปรเจ็กต์ “Content Lab 2024” ปีที่ 2 ครอบคลุมการผลักดันตั้งแต่บุคลากรสร้างสรรค์ ‘ภาพยนตร์’ ‘ซีรีส์’ ‘แอนิเมชัน’ สู่การเชื่อมต่อโอกาสการเจรจาทางธุรกิจในเชิงพาณิชย์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ได้ริเริ่มจัดทำโครงการ ‘Content Lab’ ขึ้นเป็นครั้งแรกขึ้นเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งยกระดับทักษะของนักผลิตคอนเทนต์ไทยให้มีศักยภาพในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเป้าหมายในระดับสากล ผ่านการอบรมเชิงลึก การบรรยาย และการปฏิบัติจริง รวมถึงมอบโอกาสให้ทีมผู้เข้าร่วมได้นำเสนอโครงการของตนเองกับนักลงทุน และเป็นการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต โดยหลังจากเปิดตัวโครงการ ‘Content Lab’ ได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกจากบุคลากรและกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพันธมิตรในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมโครงการที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและดำเนินโครงการของตนเอง ตลอดจนมีทีมที่เข้าร่วมโครงการในกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์ (Film & Series) จำนวน 13 ทีม ได้มีโอกาสร่วมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับสตูดิโอ ค่ายหนัง ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ และสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มชั้นนำในระดับประเทศ และต่างประเทศกว่า 30 ราย
จากจุดเริ่มต้นที่แข็งแกร่งสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าเดิม ในปีนี้ CEA จึงได้สานต่อความสำเร็จ จัดทำโครงการ ‘Content Lab 2024’ สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล ที่ขยายโครงการเพื่อพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์ในสเกลที่กว้างขึ้น ผ่าน Incubation Programs เพื่อพัฒนาหลักสูตรการบ่มเพาะให้เข้ากับความต้องการของอุตสาหกรรมคอนเทนต์มากขึ้น รวมทั้งการขยายหลักสูตรที่ลงลึกในแต่ละสาขา ประกอบด้วย โครงการย่อยบ่มเพาะ 4 โครงการและโครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ 1 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ดังนี้
· Content Lab: Newcomers โครงการพัฒนาบุคลากรคนทำหนังรุ่นใหม่ทั่วประเทศ ให้พร้อมสำหรับการผลิตคอนเทนต์ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ซึ่งโครงการจะคัดเลือกนักทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่จากทั้ง 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ โดยผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะทั้งสิ้น 8 วัน พร้อมกับเมนเทอร์ที่ดูแลโปรเจ็กต์ในแต่ละภาค ก่อนจะนำเสนอผลงานในรอบ Final Pitch ต่อคณะกรรมการเพื่อรับทุนพัฒนา จำนวนภาคละ 5 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท ซึ่งปัจจุบันโครงการได้เดินทางมาถึงโปรเจ็กต์ภาคเหนือเป็นภาคสุดท้าย
· Content Lab: Mid-Career โครงการพัฒนาโปรเจ็กต์ภาพยนตร์และซีรีส์ สำหรับบุคลากรวิชาชีพระดับกลางในสายโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบทให้มีทักษะและชั้นเชิงเพื่อตอบรับกับเทรนด์ตลาด โดยปัจจุบันโครงการได้มีการคัดเลือกเสร็จไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่ง 10 ทีมสุดท้ายที่ได้รับเลือกจะมีโอกาสได้นำเสนอ Pitch Package และ Video Pilot กับนักลงทุนเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ ในกิจกรรม Content Project Market ที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้
· Content Lab: Animation โครงการพัฒนาโปรเจ็กต์เฉพาะด้านแอนิเมชันที่ CEA ร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) โดยผู้ที่ผ่านการอบรมจำนวน 10 ทีม จะได้รับประกาศนียบัตร พร้อมทุนสำหรับการพัฒนา Pitch Deck จำนวน 100,000 บาท พร้อมได้รับสิทธิ์ในการนำเสนอโปรเจ็กต์กับนักลงทุนในงาน Content Project Market ในเดือนตุลาคม 2567 และทุนสนับสนุนค่าเดินทางเพื่อสร้างเครือข่ายและนำเสนอผลงานกับนักลงทุนในตลาดคอนเทนต์ต่างประเทศช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2567 เช่น Kre8tif ที่มาเลเซีย, Taiwan Creative Content Fest (TCCF) และ Asian Animation Summit (AAS) ที่ไต้หวัน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสชิงทุนเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาโปรเจ็กต์ Pilot Animation รางวัลละ 125,000 บาท จำนวน 3 ทุนอีกด้วย
· Content Lab: Advanced Scriptwriting โครงการพัฒนาทักษะการเขียนบทสำหรับมืออาชีพ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในไทยและต่างประเทศ ล่าสุดได้ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกไปเป็นที่เรียบร้อย โดยขั้นต่อมาผู้เข้ารอบจะได้พบนักเขียนบทระดับมืออาชีพ เช่น คุณ Kim Hyomin นักเขียนบทคุณภาพ ที่มาพร้อมประสบการณ์สอนเขียนบทในวงการภาพยนตร์และซีรีส์ของเกาหลีใต้ และคุณ Choi Ran นักเขียนบทสายสืบสวนสอบสวน ที่จะมาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ พร้อมเรื่องราวแรงบันดาลใจ ตลอดจนเทคนิค และเคล็ดลับในการสร้างตัวละครที่น่าจดจำ ต่อด้วยคลาสเรียนพิเศษเพื่อเพิ่มทักษะการจัดทำ Pitch Deck การนำเสนอผลงาน ตลอดจนการพัฒนาบทให้ตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์และเหมาะสมต่อการเจรจาททางธุรกิจ และคลาสเรียนสุดท้ายกับมาสเตอร์คลาสที่เปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญ ก่อนจะนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือก 20 ผลงานที่จะได้เข้าร่วมใน Content Project Market เป็นลำดับต่อไป
· และโครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ Content Project Market โครงการที่เป็นเหมือนตลาดซื้อขายคอน
เทนต์ของไทยครั้งใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการ Content Lab: Mid-Career, Content Lab: Animation และ Content Lab: Advanced Scriptwriting รวมทั้งนักสร้างสรรค์ในสายงานจากภายนอก ได้นำเสนอโครงการต่อนักลงทุนและภาคธุรกิจ โดย 20 โปรเจ็กต์ภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชันที่มีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์และผ่านการคัดเลือกจะได้ โอกาสในการร่วมเจรจาธุรกิจและนำเสนอผลงานกับนักลงทุนตัวจริงในอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศกว่า 50 ราย ในงาน Content Project Market 2024 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24-25 ตุลาคม 2567 ณ True Digital Park (East) ชั้น 6
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการ Content Lab 2024 ในปีนี้ ได้ขยายขอบเขตการพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์ให้กว้างขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชันของไทย ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ไทยได้แสดงความสามารถในระดับนานาชาติและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้เชื่อมั่นว่า Content Lab จะเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนานักสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ ได้แก่ โปรดิวเซอร์ นักเขียนบท และผู้กำกับ ให้มีทักษะและความรู้เพื่อตอบโจทย์และสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล ตลอดจนสร้างเครือข่ายผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยให้เติบโตในระดับโลกต่อไป
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Content Lab 2024 ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Content Lab รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ของ CEA ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th