คลังเก็บหมวดหมู่: เกษตร

กรมประมง แชร์วิธีแปรรูปผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมจากก้างปลาหมอคางดำแบบง่าย

กรมประมง แชร์วิธีแปรรูปผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมจากก้างปลาหมอคางดำแบบง่าย

เน้นทำได้ในครัวเรือน เพื่อลดเศษเหลือทิ้งสู่ธรรมชาติ พร้อมสร้างมูลค่าจากการพัฒนางานวิจัย

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 พร้อมยกเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการ ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงได้ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการในทุกมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำให้คลี่คลายโดยเร็ว โดยเฉพาะมาตรการที่ 3 และมาตรการที่ 6 ซึ่งได้มอบหมายให้นักวิจัยของกรมประมงเร่งหาแนวทางการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากปลาหมอคางดำที่ถูกกำจัดไปใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของตัวปลา โดยเฉพาะส่วนก้างที่ใหญ่และมีความแข็ง ไม่สามารถรับประทานโดยการปรุงเป็นเมนูอาหารแบบทั่วไปได้ อีกทั้งเพื่อไม่ก่อให้เกิดเศษเหลือทิ้งที่อาจส่งผลกระทบต่อธรรมชาติในอนาคต

นางพิชญา ชัยนาค ผู้อำนายการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กล่าวให้รายละเอียดว่า ปลาหมอคางดำมีส่วนที่เป็นเนื้อที่สามารถนำมาบริโภคได้โดยตรง ประมาณร้อยละ 30-35 ซึ่งปัจจุบันทางกองฯ ได้แปรรูปเป็นเมนูอาหารทั้งแบบพร้อมบริโภค พร้อมปรุง และขนมขบเคี้ยวได้หลากหลาย โดยในกระบวนการแปรรูปเหล่านี้ยังมีเศษเหลือทิ้งอื่น ๆ เช่น หัว ไส้ เครื่องใน ครีบ และก้างปลา ซึ่งล่าสุดคณะผู้วิจัยจากคณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร. ธัญบุรี) ได้คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากก้างปลาหมอคางดำ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้กับผู้บริโภค และช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยจากแนวคิดที่ว่าปลาชนิดนี้มีแคลเซียมและสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากพัฒนากระบวนการสกัดแคลเซียมด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพและไม่ทำลายคุณค่าทางโภชนาการของปลา จะทำให้สารดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งอาจดีกว่าแคลเซียมจากแหล่งอื่น เช่นเดียวกับนักวิจัยของกองฯ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงแนวทางการนำก้างปลาไปสกัดแคลเซียม จึงได้พัฒนาวิธีสกัดแคลเซียมผงด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปสามารถแปรรูปได้อย่างง่ายในครัวเรือน รวมถึงส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลางนำไปต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป โดยใช้กระบวนการให้ความร้อนในน้ำเดือดนาน 1 ชั่วโมง

จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อแยกส่วนเนื้อออกแล้วนำไปอบแห้งที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส และบดให้ละเอียดด้วยเครื่องบด ซึ่งผลการศึกษาพบว่า สามารถผลิตผงแคลเซียมได้ประมาณร้อยละ 20–25 จากเศษก้างปลาที่นำมาสกัด ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมประมงได้นำมาทดลองใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ เช่น ปั้นขลิบเสริมแคลเซียม ครองแครงเสริมแคลเซียม ข้าวเกรียบปลาเสริมแคลเซียม และปลาบดแผ่นเสริมแคลเซียม ซึ่งสามารถเพิ่มคุณค่าทางอาหารได้เป็นอย่างดี


อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะต่อไปภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ปี พ.ศ. 2567 – 2570 กรมประมงจะเร่งต่อยอดคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากส่วนเศษเหลือทิ้งอื่น ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด ตามมาตรการที่ 3 และมาตรการที่ 6 เพื่อใช้เป็นอาหารเสริม หรือสารเสริมอาหารสำหรับการบริโภค รวมทั้งเป็นส่วนผสมของขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์พร้อมบริโภคต่าง ๆ
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถศึกษาวิธีการแปรรูปและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากปลาหมอคางดำของกรมประมงได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์

https://www4.fisheries.go.th/industry และ Facebook Page : กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ในรูปแบบ E-book และ Infographic รวมทั้งสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่านช่องทางโทรศัพท์ โทร 02 940 6130 – 45 ต่อ 4320 และ 4213

0 Shares

มจธ.-กรมชลประทาน ปลดล็อกปัญหาดินเค็ม-ดินไม่อุ้มน้ำภาคอีสานด้วย ‘ไบโอซีเมนต์’

มจธ.-กรมชลประทาน ปลดล็อกปัญหาดินเค็ม-ดินไม่อุ้มน้ำภาคอีสานด้วย ‘ไบโอซีเมนต์’

ปัญหาดินเค็มและดินไม่อุ้มน้ำถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เนื่องจากเมื่อหลายล้านปีก่อนพื้นที่นี้เคยเป็นทะเล ทำให้มีชั้นหินเกลือแทรกในชั้นน้ำใต้ดิน และพื้นที่เป็นดินทราย ซึ่งเก็บกักน้ำและสารอาหารได้น้อย ในฤดูฝน น้ำฝนจะซึมลงดินอย่างรวดเร็ว ในฤดูแล้ง น้ำใต้ดินจะไหลขึ้นผ่านช่องว่างของเม็ดดิน แล้วเกิดผลึกเกลือที่ผิวหน้าของดิน ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชเป็นไปได้ยากลำบาก จึงเป็นโจทย์สำคัญที่สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดทำโครงการ “การศึกษาแนวทางการหน่วงน้ำในนาข้าวของพื้นที่ชลประทานด้วยการประยุกต์ใช้ไบโอซีเมนต์” ขึ้น มาขยายผลสู่การแก้ปัญหาปัญหาความเค็มของดินในนาข้าว และการบริหารจัดการน้ำในแปลงนาที่ประสบปัญหาดินเค็ม โดยทดลองนำร่องในพื้นที่แปลงนา ที่สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง) ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา


ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยวัสดุชีวภาพอัจฉริยะและเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า ไบโอซีเมนต์ (Bio Cement) เป็นปูนซีเมนต์ที่เกิดจากจุลินทรีย์กลุ่มที่สร้างหินปูน โดยคัดเลือกจุลินทรีย์มาจากกากน้ำปลา เพื่อสร้างซีเมนต์ที่สามารถทนต่อความเค็ม และซ่อมแซมตัวเองได้ ผสมผสานกับการสร้างจีโอโพลิเมอร์ จะได้ปูนที่มีความแข็งแกร่ง และหน่วงน้ำได้ วัสดุไบโอซีเมนต์จะสามารถหน่วงน้ำฝนในฤดูฝน และลดการแทรกของเกลือในฤดูแล้ง ที่อาจจะใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำและการป้องกันความเค็มที่เกิดจากชั้นน้ำใต้ดิน

“การผลิตแผ่นไบโอซีเมนต์ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัทเอกชนในพื้นที่ ประกอบด้วย “เปลือกไข่” ที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากโรงฟักไก่ของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในพื้นที่จ.ชัยภูมิและนครราชสีมา ผสมรวมกับ“กากแร่” ที่เป็นหินอัคนีที่มีแร่สำคัญอย่างซิลิกา และอลูมินา จากบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยผสมวัสดุประสานกับสารละลายจุลินทรีย์ ทำให้ได้ไบโอซีเมนต์ที่มีโครงสร้างของสารประกอบ แคลเซียม-อลูมินา-ซิลิกา ที่มีความทนทานต่อการกัดกร่อนของเกลือ และสามารถซ่อมแซมตนเองได้ เมื่อเกิดรอยแตกขนาดจิ๋ว (Micro Cracks) โดยจุลินทรีย์จะสร้างผลึกสีขาวของแคลเซียมคาร์บอเนตเพื่อปิดรอยแตกนั้น สามารถนำมาทดแทนแผ่นซีเมนต์แบบเดิมหรือแผ่นพลาสติก HDPE ที่นิยมใช้ในการกักเก็บน้ำในดิน ซึ่งมีแนวโน้มจะเสื่อมสภาพและเกิดปัญหาไมโครพลาสติกสะสมในดิน

สำหรับการทดสอบไบโอซีเมนต์ในครั้งนี้ จะเป็นการติดตั้งแผ่นไบโอซีเมนต์ ขนาด 75 x 75 เซนติเมตร หนา 8.5 เซนติเมตร ฝังลงในถังไลซิมิเตอร์ (Lysimeter) ที่ปลูกข้าวและไม่มีปลูกข้าว เพื่อศึกษาอัตราการคายระเหยของน้ำในพืช และการระเหยของน้ำในดิน ตามลำดับ รวมถึงประสิทธิภาพของไบโอซีเมนต์ในการหน่วงการซึมน้ำและป้องกันความเค็มจากพื้นดินด้วย ซึ่งจะทำการทดสอบหนึ่งรอบการปลูกข้าวหรือประมาณ 4 เดือน ก่อนนำไบโอซีเมนต์ขึ้นมาตรวจสอบประสิทธิภาพการซ่อมแซมตัวเอง และความทนต่อความเค็ม ในทุกระยะของการเพาะปลูก

นายพีรวัส พึ่งพาพัฒน์ วิศวกรโยธาปฏิบัติการ สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน เล่าเสริมอีกว่า หากการทดลองประสบความสำเร็จ นอกจากจะแก้ปัญหาดินเค็มและดินไม่อุ้มน้ำได้แล้ว ไบโอซีเมนต์ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาอื่น ๆ เช่น การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ไบโอซีเมนต์ในคลองส่งน้ำชลประทาน ด้วยคุณสมบัติซ่อมแซมตัวเองเมื่อเกิดรอยแตกขนาดเล็ก จะช่วยลดการสูญเสียน้ำจากการรั่วซึมและเพิ่มประสิทธิภาพในการชลประทาน

ด้านนายภูริวิทย์ สังข์ศิริ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า บริษัททำงานเกี่ยวกับการทำเหมือง และมีของเหลือจากการผลิตเป็นกากแร่ ซึ่งสามารถเสริมความแข็งแรงของไบโอซีเมนต์ จึงสนับสนุนอย่างเต็มที่ และยินดีอย่างยิ่งที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาของพื้นที่ในครั้งนี้
ในส่วนของตัวแทนจาก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นายวิเชต ช่วยทอง รองผู้อำนวยการธุรกิจไก่พันธุ์ (ไก่เนื้อ 1) ได้นำเปลือกไข่มาให้ทีมวิจัยเพื่อใช้เป็นส่วนผสมสำคัญของไบโอซีเมนต์ กล่าววว่า “โดยปกติแล้วเปลือกไข่ที่ได้จากโรงฟักของเรา ส่วนหนึ่งจะมีเกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ในการบำรุงดินอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เปลือกไข่ถูกต่อยอดไปเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ที่จะช่วยในการซ่อมแซมไบโอซีเมนต์ให้แข็งแรงคงคุณภาพได้อย่างยาวนานขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของทางบริษัทที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และเรายินดีที่จะสนับสนุนเปลือกไข่ในพื้นที่อื่นๆ ที่ทีมวิจัยอยากจะนำไปต่อยอด เนื่องจากเรามีโรงฟักไข่อยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ”

ผศ.ดร.ธิดารัตน์ กล่าวว่า หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ไบโอซีเมนต์ที่ได้จะพัฒนาสูตรให้สามารถใช้กับเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่จะนำไปผลิตปะการังเทียม หรือพัฒนาเป็นไบโอคอนกรีต ที่อาจถูกนำไปใช้ในงานก่อสร้างเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ ไบโอซีเมนต์อาจจะมีการฉาบผิวหน้าด้วยแมงกานีส และสังกะสี เพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากบ้านเรือน ซึ่งจะเป็นการหมุนเวียนน้ำทิ้งไปใช้ในการเกษตร เมื่อเกิดการขาดแคลนน้ำ

โครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยขณะนี้โครงการยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและทดสอบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายผลและนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคตอันใกล้

0 Shares

กรมประมง จัดงบรับซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อเร่งกำจัดจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง

กรมประมง จัดงบรับซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อเร่งกำจัดจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง

นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่กรมประมงได้แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการควบคุมและกำจัดออกจากแหล่งน้ำทุกแห่ง ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทยในการดำเนินโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ภายใต้งบประมาณ 50 ล้านบาท โดยรับซื้อปลาหมอคางดำที่ถูกกำจัดเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำหมักชีวภาพสำหรับแจกจ่ายให้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งสิ้นสุดโครงการไปแล้วเมื่อสิ้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา พบว่าโครงการดังกล่าวฯ ได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมสามารถรับซื้อปลาหมอคางดำที่กำจัดได้จากบ่อเลี้ยงจำนวน 436,595 กิโลกรัม(ก.ก.) และจากธรรมชาติจำนวน 144,841 ก.ก.รวมทั้งสิ้น 581,436 ก.ก.

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำ กรมประมงจึงได้มีการดำเนิน “โครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ระยะเร่งด่วน” ขึ้น เพื่อเร่งกำจัดออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม กรมประมงได้ประสาน บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด เพื่อรับซื้อในการผลิตปลาป่น ส่วนในพื้นที่อื่นที่มีการแพร่ระบาดใน จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา
กรมประมงได้เปิดรับสมัครแพปลาเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มจากที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยการอำนวยความสะดวกและกระจายจุดรับซื้อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และกำหนดราคารับซื้อที่ก.ก.ละ 20 บาท (รวมค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายทั้งปวง) ตั้งแต่วันนี้จนถึง 25 ก.ย.นี้ จากนั้นแพปลาจะรวบรวมและนำส่งหน่วยงานสังกัดกรมพัฒนาที่ดินในพื้นที่ เพื่อนำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพต่อไป โดยคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการฯ

จะสามารถรับซื้อปลาหมอคางดำได้ทั้งสิ้น 100,000 ก.ก. รองอธิบดีกรมประมงกล่าวอีกว่า ผู้ที่ประสงค์นำปลาหมอคางดำที่จับได้จากธรรมชาติมาขาย ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ หรือพื้นที่ใกล้เคียง หรือติดต่อสอบถามได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง 0 2562 0494

0 Shares

ข่าวดี ! สหรัฐอเมริกาปลดกุ้งไทยออกจาก Blacklist การใช้แรงงานเด็ก ยันการแก้ไขกม.ประมงใหม่ไม่กระทบต่อการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง

ข่าวดี ! สหรัฐอเมริกาปลดกุ้งไทยออกจาก Blacklist การใช้แรงงานเด็ก ยันการแก้ไขกม.ประมงใหม่ไม่กระทบต่อการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน.ดี.ซี. ว่า ขณะนี้สหรัฐอเมริกาได้ออกรายงาน Findings on the Worst Forms of Child Labor (TDA Report) ได้ถอดถอนรายการสินค้ากุ้งจากประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่มีการใช้แรงงานเด็ก หรือ TVPRA และ EO Lists แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2566 ประเทศไทยมีความพยายามในการดำเนินการตรวจสอบกิจการประมงและกุ้งเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตรวจแรงงานเชิงรุกและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตกุ้งและกิจการที่เป็นห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ มีการกำกับดูแลการใช้แรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย และนำมาตรฐานแรงงานไทยและแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีไปใช้ในการบริหารกิจการ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานภาคบังคับร่วมกับ 12 องค์กรภาคเอกชน เพื่อกำกับดูแลแรงงานข้ามชาติและขจัดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้านแรงงาน และได้จัดทำรายงานสถานการณ์แรงงานเด็กและแรงงานภาพบังคับในสินค้ากุ้ง และปลา เพื่อเสนอปลดรายการสินค้าไทยจากบัญชี Blacklist ของสหรัฐอเมริกา

ด้วยความพยายามดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอดถอนสินค้ากุ้งของไทยออกจาก TDA Report เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดี ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกายังคงจัดลำดับให้ประเทศไทยอยู่ในรายชื่อประเทศผู้ผลิตสินค้ากุ้งโดยใช้แรงงานบังคับที่เป็นผู้ใหญ่ และมีการเพิ่มรายการสินค้าไทยซึ่งมีการผลิตโดยใช้แรงงานบังคับอีก 3 รายการ ได้แก่ ปลาป่น (Thailand Fishmeal) น้ำมันปลา (Thailand Fish Oil) และอาหารสัตว์ (Thailand Animal Feed) ก็ตาม ก็มิได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐอเมริกา เนื่องจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุชัดเจนว่า การจัดทำบัญชี TDA Report เป็นความพยายามของสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นให้ประเทศคู่ค้ามีการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ไม่ได้ส่งผลต่อการคว่ำบาตรทางการค้า แต่เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของประเทศไทยในการดำเนินการด้านแก้ไขปัญหาแรงงานภาคการประมงอย่างเข้มแข็ง กรมประมงจะบูรณาการในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ประกอบการด้านการผลิตปลาป่น น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารกุ้ง เพื่อตรวจสอบข้อมูลและอุดช่องว่างที่สหรัฐยังมีข้อกังวลในการใช้แรงงานบังคับกับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า 3 รายการดังกล่าวต่อไป
ส่วนข้อกังวลในเรื่องของการค้านั้น จากสถิติการส่งออกปลาป่น น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ไปสหรัฐอเมริกา มีปริมาณน้อยมาก โดยระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2566 มีการส่งออกอาหารสำหรับเลี้ยงกุ้ง 48 – 153 ตัน มูลค่า 17.5 – 51 ล้านบาท/ปี และไม่มีการส่งออกปลาป่น และน้ำมันปลาไปสหรัฐฯ แต่อย่างใด อีกทั้ง การปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งตามร่างฯ เป็นการยกเลิกมาตรา 10/1 มาตรา 11 และมาตรา 11/1 ที่เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับแรงงานที่ทำงานในโรงงานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำ ซึ่งปัจจุบัน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2565 พระราชกำหนดบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เป็นกฎหมายหลักมีผลบังคับใช้ที่รองรับการคุ้มครองแรงงานในโรงงานครบถ้วนอยู่แล้ว ดังนั้น การยกเลิกบทบัญญัติดังที่กล่าวในกฎหมายประมง จึงเป็นการช่วยลดความซ้ำซ้อนของกฎหมายและก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้บังคับ ทั้งนี้ ในการปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ดังกล่าวไม่ได้มีการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานในเรือประมงแต่อย่างใด การนำเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมงไปเชื่อมโยงกับ TDA Report จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยกรมประมงร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย พร้อมจะให้ข้อเท็จจริงต่อประเทศคู่ค้า และผู้เกี่ยวข้องต่อไป

0 Shares

เร่งไล่ล่า “ปลาหมอคางดำ” สานพลังความร่วมมือทุกภาคส่วน

เร่งไล่ล่า “ปลาหมอคางดำ” สานพลังความร่วมมือทุกภาคส่วน

“ปลาหมอคางดำ” ถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ปี 2567-2570 เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหยุดการแพร่พันธุ์ของประชากรปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่ มีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 5 ล้านกิโลกรัม ในแหล่งน้ำ 19 จังหวัด ภายในปี 2570 โดยกรมประมงบูรณาการความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งหนึ่งในภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง คือ ซีพีเอฟ ที่ให้การสนับสนุนกรมประมง ด้วยการระดมทุกสรรพกำลังในการสนับสนุนการแก้ปัญหา ผ่านแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 โครงการ ได้แก่

โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาเพื่อทำปลาป่น 2 ล้านกิโลกรัม ที่ปัจจุบันร่วมกับโรงงานปลาป่นในสมุทรสาครจัดซื้อปลาไปแล้วกว่า 8 แสนกิโลกรัม

โครงการปล่อยปลากะพงขาวปลานักล่า 2 แสนตัว จนถึงวันนี้ปล่อยปลากะพงลงแหล่งน้ำแล้ว 64,000 ตัว,

โครงการสนับสนุนกรมประมง ร่วมกับประมง 13 จังหวัด เปิดปฏิบัติการ “ลงแขกลงคลอง” ล่าปลาหมอคางดำ มอบอุปกรณ์จับปลา สนับสนุนกำลังคน อาหาร และน้ำดื่ม พร้อมมอบถังพลาสติกใช้แล้วทำน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง

โครงการร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำปลาไปใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร

รวมทั้งหมดโครงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในการศึกษาวิจัยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อตัดวงจรและควบคุมการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ในระยะยาว โดยมีมหาวิทยาลัยแสดงเจตนารมณ์ร่วมโครงการวิจัย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้

โครงการเชิงรุกที่ยังคงเดินหน้า เพื่อเร่งกำจัดและควบคุมประชากรปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง ส่งผลให้ปริมาณปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ลดลงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหมดนี้เพื่อร่วมฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศและทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย

0 Shares

“นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูแบบครบวงจร” พลิกโฉมเกษตรกรไทยสู่การผลิตอาหารเศรษฐกิจแห่งอนาคต พร้อมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

“นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูแบบครบวงจร”พลิกโฉมเกษตรกรไทยสู่การผลิตอาหารเศรษฐกิจแห่งอนาคต พร้อมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

โปรตีนจากแมลง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคต ซึ่ง “ด้วงสาคู” เป็นแมลงกินได้ที่กำลังได้รับความนิยมบริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และถือเป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เนื่องจาก เพาะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก ขนาดของตัวหนอนค่อนข้างโต มีน้ำหนักและปริมาณโปรตีนสูง สามารถใช้ได้ทุกสัดส่วน จึงขายได้ราคาดี แต่การเพาะเลี้ยงด้วงสาคูในปัจจุบัน เกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องการจัดการของเสียในระบบการเลี้ยงฯ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตรวมถึงสภาพแวดล้อมและชุมชน เช่น ลำไส้ด้วงสาคูมีสีดำ เนื้อด้วงสาคูมีกลิ่นเหม็น ขณะเดียวกันเกษตรกรไม่สามารถผลิตด้วงสาคูได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการแปรรูปด้วงสาคูในระดับอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังพบว่าการเลี้ยงด้วงสาคูด้วยโรงเลี้ยงในปัจจุบัน ยังมีปัญหาเรื่องแมลงอื่นเข้ามารบกวน วางไข่และกินอาหารที่เน่าเสีย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อรารวมถึงไร ซึ่งเป็นศัตรูของการเลี้ยงด้วงสาคู ทำให้ได้จำนวนผลผลิตที่ไม่แน่นอนในแต่ละรอบของการเพาะเลี้ยง และที่สำคัญยังเกิดการหลุดรอดของตัวเต็มวัยของด้วงสาคูซึ่งเป็น ศัตรูพืชของมะพร้าวและสาคู ก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะของเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วงสาคูกับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและสาคู

จากปัญหาดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยแผนงานกลุ่มเกษตรและอาหาร ในโครงการ “นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ” โดยมี “ผศ. ดร.ศศิธร หาสิน” จากวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.)วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ และผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางวัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, อาจารย์ ดร.พีระเมศร์ โชติกวีกิจญาดา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.), นางสาวพัฐทกรณ์ มานุพีรพันธ์ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางวัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ นายวทัญญู บุญเสริมยศ จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.เจ. ซัลเลต

​ ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของโครงการฯ ผศ. ดร.ศศิธร บอกว่า เป็นการรับโจทย์มาจากผู้ประกอบการจำหน่ายและส่งออกด้วงสาคูไปต่างประเทศ รวมถึงได้รับคำแนะนำจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วงสาคูโดยตรงที่ประสบปัญหาคุณภาพของผลผลิตด้วงสาคู ซึ่งมาจากการจัดการของเสียในระบบการเลี้ยง คณะวิจัยฯ จึงพัฒนา “โครงการนวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ” ขึ้นโดยประกอบด้วยงานวิจัยย่อย คือ 1.การพัฒนาต้นแบบระบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ 2.การพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอนด้วงสาคู และ 3. จัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินและก๊าซชีวภาพจากของเสียที่ได้จากระบบการเลี้ยง

สำหรับ “ต้นแบบระบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ” เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงด้วงสาคู เพื่อลดปัญหาให้เกษตรกรและผู้ส่งออกทั้งเรื่องสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสม การส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน การหลุดรอดของตัวเต็มวัยที่อาจไปก่อความเสียหายต่อผลผลิตของเกษตกรผู้ปลูกต้นสาคู และการเพิ่มความสะดวกสบายในการเพาะเลี้ยง โดยระบบได้มุ่งเน้นเรื่องการประหยัดน้ำ อาหาร และพื้นที่ในการเลี้ยง

ทีมวิจัยได้มีการออกแบบกล่องเลี้ยงหนอนด้วงสาคูที่ติดตั้งชุดกลไกอัตโนมัติ สำหรับการเคลื่อนย้ายกล่องเลี้ยง เพื่อเติมอาหารและเก็บเกี่ยวผลผลิตตัวหนอนเมื่อครบรอบการเลี้ยง รวมไปถึงชุดเติมอาหารและน้ำ ระบบชะล้างและระบายน้ำเสีย และที่สำคัญคือชุดตรวจวัดระบบนิเวศ ซึ่งมีการติดตั้งเซนเซอร์ภายในกล่องเลี้ยงเพื่อวัดอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณแก๊สต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเพาะเลี้ยง พร้อมระบบเก็บข้อมูลและติดตามผลแบบเรียลไทม์ ที่เชื่อมต่อกับเซนเซอร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่มีการทำงานที่ปลอดภัยและควบคุมได้ง่าย
ส่วน การพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอนด้วงสาคู จะเน้นการศึกษาความหลากชนิดของพืชอาหารของตัวหนอนและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของหนอนมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอน ปัจจุบันพัฒนาแล้วใน 2 สูตรคือ สูตรตัวอ่อนด้วงสาคู และสูตรตัวเต็มวัย ขณะที่ ต้นแบบผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินและก๊าซชีวภาพ จะเป็นผลพลอยได้จากระบบการจัดการของเสียจากการเลี้ยงด้วงสาคู ซึ่งมีการนำของเสียมาใช้ประโยชน์

“ผลการเลี้ยงด้วงสาคูในกล่องเลี้ยงระบบปิดที่พัฒนาขึ้น ซึ่งมีการออกแบบให้สามารถเลี้ยงด้วงสาคูให้ได้ผลผลิต 1 กิโลกรัมต่อกล่อง เบื้องต้นจากระบบการเลี้ยงบวกกับอาหารที่พัฒนาขึ้นทำให้ได้ผลผลิตด้วงสาคูประมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อรอบการเลี้ยงเพียง 20 วัน จากเดิมที่เกษตรกรเลี้ยงในโรงเรือนต้องใช้เวลาถึง 35 วัน นอกจากนี้ตัวด้วงสาคูที่เลี้ยงด้วยอาหารที่พัฒนาขึ้นยังมีค่าโปรตีนสูงกว่าการเลี้ยงด้วยวิธีการดั้งเดิมอีกด้วย”

ผศ. ดร.ศศิธร กล่าวอีกว่า นอกจาก 3 งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพข. แล้ว คณะผู้วิจัยเล็งเห็นประโยชน์ของด้วงสาคูที่มีปริมาณโปรตีนสูง แต่ผู้บริโภคอาจจะเกิดความกลัวในรูปลักษณ์ของด้วงสาคู จึงเกิดการต่อยอดผลผลิตด้วงสาคูที่ได้จากระบบการเลี้ยงที่พัฒนาขึ้น เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบอาหารจากแมลง “มีทบอลจากด้วงสาคู” และ “ไอศกรีมจากด้วงสาคู” เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของด้วงสาคูให้บริโภคได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบัน ต้นแบบระบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ อยู่ระหว่างการยื่นขอสิทธิบัตร และได้รับความสนใจจากภาคเอกชนในการทำสัญญาจองสิทธิ์ในการนำเทคโนโลยีการเลี้ยงไปใช้ประโยชน์ทางการค้าแล้ว ส่วนการพัฒนาสูตรอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงด้วงสาคู ซึ่งมีการดำเนินการร่วมกับ หจก. พี.เจ ซัลเลต ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ มีการทดลองใช้งานจริงในกลุ่มลูกฟาร์มของ หจก. พี.เจ ซัลเลต และอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นขออนุญาต และขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์เพื่อจำหน่ายทางการค้าต่อไป


จากประโยชน์ของการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว ที่ช่วยเพิ่มอัตราการผลิต ยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์จากด้วงสาคู ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ลดการใช้สารเคมีในการควบคุมแมลง ลดการปนเปื้อนสารพิษ และลดของเสีย แก้ปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนจากปัญหากลิ่นเหม็นจากการเลี้ยง รวมถึงลดการหลุดรอดของด้วงสาคูตัวเต็มวัยที่เป็นศัตรูพืช ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงด้วงสาคูและผู้ปลูกต้นสาคูเพื่อจำหน่าย ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในอนาคตของประเทศได้อีกด้วย

พร้อมกันนั้น คณะผู้วิจัยยังมีแผนที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการไปสู่เกษตรกรที่สนใจ และคาดหวังว่าการพัฒนา “นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคู” นี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ นโยบาย วิชาการ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพจากโปรตีนทางเลือกที่ผลิตจากแมลงของประเทศ

0 Shares

ไบโอเทค สวทช. และ ม.มหิดล ผุด “ไมซีเลี่ยมปลูกป่ารูปหัวใจ” และ “ไมโค-บล็อกจากกากกาแฟ”เพื่อสังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในจ.ตาก

ไบโอเทค สวทช. และ ม.มหิดล
ผุด “ไมซีเลี่ยมปลูกป่ารูปหัวใจ” และ “ไมโค-บล็อกจากกากกาแฟ”เพื่อสังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในจ.ตาก

ทีมนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับนักวิจัยจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และเครือข่ายเพื่อนสวนพฤกษ์ อ.แม่สอด จ.ตาก ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เหมืองผาแดง) อ.แม่สอด จ.ตาก จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ไมซีเลี่ยมรูปหัวใจสำหรับฟื้นฟูป่าธรรมชาติ” และ “ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ” เพื่อสังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ผ่านกิจกรรมให้เยาวชนในพื้นที่ได้ร่วมกันสร้างหัวใจไมซีเลี่ยมที่ช่วยปกป้องเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกป่าได้ยั่งยืน และสร้างอิฐชีวภาพจากชีวมวลเหลือทิ้งภาคการเกษตรในพื้นที่ สร้างความตระหนักในเรื่องวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ผืนป่า

ดร.นัฐวุฒิ บุญยืน นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า การปลูกต้นไม้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างหนึ่ง การสร้างป่าไม่เท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซนี้เป็นสาเหตุหลักของโลกร้อน การปลูกต้นไม้จะช่วยดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศ เนื่องจากต้นไม้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ดีโดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง รวมถึงยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอน รักษาระบบนิเวศ และปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ป่าด้วย

ทีมวิจัยไบโอเทค ประกอบด้วย ดร.นัฐวุฒิ บุญยืน น.ส.จารุวรรณ เชื้อสีหะรณชัย น.ส.สลิลาพร นวลแก้ว และ น.ส.ปพิชญา ขวานทอง ร่วมมือกับ ผศ.ดร.ปรียาพร เกิดฤทธิ์ ดร.จักรพล พันธุวงศ์ภักดี จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.ดร.หนึ่งนิตย์ วัฒนวิเชียร จากกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ไมซีเลี่ยมรูปหัวใจสำหรับฟื้นฟูป่าธรรมชาติ” และ “ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ” เพื่อสังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยการปลูกป่าด้วยหัวใจไมซีเลี่ยม ได้ถูกนำไปสาธิตและประยุกต์ในงาน “KIT CAMP 2024” ในวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่พื้นที่ผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก ในขณะที่ “ไมโค-บล็อกมวลเบาจากเห็ดผสมกากกาแฟ” ได้ถูกนำไปสาธิตและลงมือจริงในงาน “ก็มาดิ… CRAFT” ระหว่างวันที่ 23 – 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่โรบินสัน แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นงานภายใต้ความร่วมมือของหลายภาคส่วนในจ.ตาก เช่น ททท.สำนักงานจ.ตาก หอการค้าจ.ตาก วิทยาลัยชุมชนจ.ตาก กลุ่มนักประกอบธุรกิจรุ่นใหม่จ.ตาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด เป็นต้น โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการทั้งสองถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการ “การอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในพื้นที่เหมืองผาแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ตาก ตามโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG” ภายใต้ความร่วมมือกับ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ตาก

“หัวใจไมซีเลี่ยมปลูกป่า” เปรียบเสมือนการใส่ใจ (หัวใจ) ลงไปด้วย ซึ่งหลังจากผ่านกิจกรรมปลูกป่าเสร็จ คาดว่าน้อง ๆ เยาวชนผู้ร่วมกิจกรรมจะกลับไปติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ดังกล่าวด้วย โดยชิ้นงาน “ไมซีเลี่ยมปลูกป่ารูปหัวใจ” จะนำไปประยุกต์ในด้านการอนุรักษ์ป่า ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ต่อไป และต้นไม้ที่โตขึ้นจาก “หัวใจไมซีเลี่ยม” จะนำไปสร้างการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เหมืองผาแดง ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ด้วย ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เน้นการส่งเสริมพื้นที่เกษตรและป่าชุมชนเพื่อต่อยอดโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ชุมชนแนวใหม่ ก่อให้เกิดช่องทางรายได้เพิ่ม สร้างความตระหนักรู้ของคุณค่าพื้นที่บ้านเกิด และสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อย่างยั่งยืน (Nature-Based Solution) อีกทั้งคาดว่าจะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดโลกร้อน และในอนาคตต้นไม้ที่ปลูกนั้นสามารถนำไปสร้างคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับพื้นที่ได้ด้วย ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG model ของประเทศ โดยกิจกรรมนี้ภายใต้งาน KIT CAMP 2024 น้อง ๆ เยาวชนได้ร่วมกันเรียนรู้การสร้างหัวใจไมซีเลี่ยมจากการผสมก้อนเห็ดและสารอาหาร การระบายเติมแต่งสีในหัวใจไมซีเลี่ยมตามจินตนาการ และร่วมกันปลูกป่าในพื้นที่ผาแดง เป็นกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเรื่องสำนึกรักษ์ป่าไปพร้อม ๆ กัน

ในขณะที่ “ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ” โดยใช้กากกาแฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในของเหลือทิ้งในท้องถิ่น จ.ตาก ผ่านเทคโนโลยีทางชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปใช้จริงในสถานการณ์จำลอง หรือในสภาวะเลียนแบบที่ใกล้เคียงสภาวะแวดล้อมจริงของกลุ่มพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ให้สอดคล้องตามความต้องการของพื้นที่ ภายใต้ BCG model และสามารถประยุกต์ต่อยอดและพัฒนาในอนาคตต่อไปได้ โดยกิจกรรมนี้ภายใต้งานก็มาดิ… CRAFT น้อง ๆ เยาวชนได้ร่วมกันเรียนรู้การสร้างอิฐจากก้อนเห็ด กากกาแฟ เศษอ้อย ข้าวโพด และชีวมวลภาคการเกษตร โดยร่วมกันทำอิฐในเต็นท์ปลอดเชื้อที่ทีมวิจัยเตรียมไว้ให้ เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้ออื่น ๆ ซึ่งอิฐชีวภาพที่ได้จะเป็นอิฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ปราศจากสารเคมีอันตราย ตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม

“ในปัจจุบัน ‘ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ’ ถือเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาวัสดุและอาคารที่พัก (Homestay) ต้นแบบจากเศษวัสดุทางการเกษตรโดยนำไปผสมกับกลุ่มพืชไร่ข้าวโพด โดยชุมชนและโรงเรียนด้านสิ่งแวดล้อมของ จ.ตาก ในการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวสีเขียว ชุมชนแนวใหม่ ที่เปิดโอกาสให้คนได้อยู่ร่วมกับพืชและสัตว์ ช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ให้คนดูเเลธรรมชาติจากใจมากขึ้น โดยสอดแทรกทั้งกิจกรรมและนวัตกรรมวัสดุเพื่อเป็นบ้านที่ปลอดภัยของต้นไม้ เช่น กลุ่มกล้วยไม้ป่า กลุ่มไม้ยาง กลุ่มเห็ดป่า เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ในพื้นที่ร่วมกับนวัตกรรมวัสดุเพื่อเป็นบ้านที่ปลอดภัยของแมลงและนก เช่น ผึ้ง ชันโรง และนกโพรงบางประเภท เป็นต้น จึงเป็นการพัฒนาแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับธรรมชาติรูปแบบใหม่ของประเทศไทย” ดร.นัฐวุฒิกล่าว

สำหรับผู้สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ทีมวิจัยด้านเทคโนโลยีเส้นใยไมซีเลี่ยม ไบโอเทค สวทช. โทร. 0 2564 6700 ต่อ 3243 E-mail: nattawut@biotec.or.th

0 Shares

กรมประมงแจ้งข่าวดี“จีน”ไฟเขียว! เปิดตลาดให้ไทยส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิต ตอกย้ำความเชื่อมั่นสินค้าประมงไทยในตลาดต่างประเทศ

กรมประมงแจ้งข่าวดี“จีน”ไฟเขียว! เปิดตลาดให้ไทยส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิต
ตอกย้ำความเชื่อมั่นสินค้าประมงไทยในตลาดต่างประเทศ

กรมประมงแจ้งข่าวดี ประเทศไทยสามารถส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิตไปยังจีนได้แล้ว หลังพยายามเจรจาผลักดันเพื่อเปิดตลาดสินค้าประมงชนิดใหม่ หนุนเพิ่มช่องทางการค้า และขยายโอกาสให้สินค้ากุ้งก้ามกรามของไทยเติบโตได้ในตลาดโลก

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “กุ้งก้ามกราม” ถือเป็นสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและมีความต้องการทางตลาดสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ กรมประมงจึงได้มีการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในปี 2566 ประเทศไทยมีปริมาณผลผลิตกุ้งก้ามกรามทั้งหมด 46,585 ตัน จากฟาร์มเพาะเลี้ยง 12,127 ฟาร์ม คิดเป็นมูลค่ากว่า 8,659 ล้านบาท และมีการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งก้ามกรามจำนวน 4,711 ตัน มูลค่าการส่งออกกว่า 568 ล้านบาท ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ อาทิ เมียนมา สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ฯลฯ รวมถึง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นหนึ่งตลาดหลักที่มีมูลค่าการส่งออกสูง และยังคงมีแนวโน้มความต้องการสินค้ากุ้งก้ามกรามจากไทยเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
กรมประมงได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเพื่อการส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิต ตามนโยบายของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มศักยภาพการผลิตกุ้งก้ามกรามให้ได้ 55,000 ตัน เพื่อส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และผลักดันให้มีการส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิตเพื่อการบริโภคไปยังจีน โดยเปิดตลาดสินค้าประมงชนิดใหม่ เนื่องจากกุ้งก้ามกรามได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนมาก กรมประมงจึงได้เร่งรัดประสานดำเนินการมาโดยตลอด จนล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of People’s Republic of China: GACC) ได้อนุมัติให้เพิ่มรายชื่อสัตว์น้ำประเภทกุ้งก้ามกรามมีชีวิตในบัญชีรายชื่อสินค้าที่อนุญาตให้นำเข้า และยอมรับรายชื่อฟาร์ม 28 ราย และ สถานบรรจุสัตว์น้ำ 7 ราย ให้ส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิตไปยังจีน โดยเกษตรกรจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี และมีสถานบรรจุสัตว์น้ำที่ผ่านการตรวจสอบสุขลักษณะตามข้อกำหนดของกรมประมง รวมถึงมีรูปแบบและวิธีการในการขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิตตามระเบียบการนำเข้าของสำนักงานศุลกากรแห่งจีน ทั้งในด้านข้อกำหนดการตรวจรับรองสถานประกอบการ มาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพสินค้าทางกายภาพ เคมี จุลินทรีย์ และข้อกำหนดการออกใบรับรอง (Health Certificate) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าสินค้าประมงของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย รวมถึงสามารถคงความสดใหม่ได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง


อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งออกกุ้งก้ามกรามมีชีวิตไปยังจีนในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายช่องทางการตลาดของสินค้าประมงไทยชนิดใหม่ในจีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยกรมประมงจะยังคงเดินหน้าพัฒนาศักยภาพการผลิตกุ้งก้ามกรามของไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงยกระดับมาตรฐานสินค้าประมงของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

0 Shares

วช. มอบนวัตกรรม “ยางสู่การใช้ประโยชน์ครบวงจรเพื่อการพัฒนายางพาราไทยอย่างยั่งยืน” ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ

วช. มอบนวัตกรรม “ยางสู่การใช้ประโยชน์ครบวงจรเพื่อการพัฒนายางพาราไทยอย่างยั่งยืน” ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ

วันที่ 29 ส.ค. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมยางสู่การใช้ประโยชน์ครบวงจรเพื่อการพัฒนายางพาราไทยอย่างยั่งยืน โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. ได้มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการวช. เป็นประธานในพิธีพร้อมส่งมอบนวัตกรรมให้กับตัวแทนผู้รับมอบนวัตกรรมยางทั้งสามหน่วยในวันนี้ โดย นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 ได้เป็นผู้กล่าวรายงานดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ที่เวทีกิจกรรม Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

นายสมปรารถนา กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยประเทศไทยได้มีราชกิจจานุเบกษาประกาศเผยแพร่พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้มีการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงพาณิชย์และทางสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างรวมทั้งช่วยยกระดับงานวิจัยในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเพื่อการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพซึ่งการนำผลงานวิจัยด้านยางพาราไปใช้ประโยชน์นั้น เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยางพาราภายในประเทศ เพื่อการสร้างรายได้แก่อุตสาหกรรมยางพาราที่ครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำสู่การใช้ประโยชน์อย่างครบวงจรเพื่อการพัฒนายางพาราไทยอย่างยั่งยืน

สำหรับการส่งมอบนวัตกรรมยางที่มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม 3 นวัตกรรม ได้แก่
1. ห้องปฏิบัติการทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยาง RPM KU ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 สำหรับทดสอบน้ำยางข้นและผลิตภัณฑ์ยางฟองน้ำ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา ผลงานวิจัย โดย รศ.ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา ทั้งนี้ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา เป็นผู้รับมอบนวัตกรรม
2. เสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาตินวัตกรรมภายใต้การดำเนินงานโครงการวิจัย เรื่อง นวัตกรรมเสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางคมนาคมทางบก ผลงานวิจัย โดย ศ.ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับมอบนวัตกรรม
3. แผ่นยางปูทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟ นวัตกรรม ภายใต้การดำเนินงานโครงการวิจัยเรื่อง แผ่นยางปูทางผ่านเสมอทางรถไฟจากยางพารา ผลงานวิจัย โดย รศ.ดร.อิทธิพล แจ้งชัด สังกัด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับมอบนวัตกรรม

ทั้งนี้ พิธีส่งมอบนวัตกรรมยางสู่การใช้ประโยชน์ครบวงจรเพื่อการพัฒนายางพาราไทยอย่างยั่งยืนในวันนี้ คือผลงานนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของ วช. และเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยาง และส่งเสริมการพัฒนายางพาราไทยอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

0 Shares

กรมประมงเร่งสำรวจความเสียหายอุทกภัยภาคเหนือตอนบน 4 จังหวัด

กรมประมงเร่งสำรวจความเสียหายอุทกภัยภาคเหนือตอนบน 4 จังหวัด

อธิบดีบัญชา สั่งเรือตรวจการประมง ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมแนะนำเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 11 จังหวัด พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เตรียมรับมือสถานการณ์

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ส.ค. เป็นต้นมา จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จ.เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ กรมประมงในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ประสบอุทกภัยและใกล้เคียง นำเรือตรวจการประมงเข้าพื้นที่ประสบอุทกภัยเพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที อาทิ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดพิษณุโลกร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประมงจ.แพร่ นำเรือตรวจประมงนเรศวร 04 ออกปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน โดยได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่อุทกภัย และลำเลียงผู้ป่วยส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิในพื้นที่ต.ในเวียง พร้อมทั้งนำอาหารและน้ำดื่มไปมอบให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อ.เมือง จ.แพร่

พร้อมทั้งเร่งสำรวจความเสียหายของเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ (ด้านการประมง) ในพื้นที่ 4 จังหวัด เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ส.ค.) พบพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 34 อำเภอ เกษตรกร จำนวน 7,405 ราย พื้นที่ได้รับความเสียหาย 5,638.57 ไร่ ปริมาณการมูลค่าความเสียหาย 85,717,602 บาท วงเงินช่วยเหลือ 33,608,791.04 บาท ทั้งนี้ กรมประมงจะเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยมีอัตราการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
1. กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
2. ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ นอกจากข้อ 1. ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
3. สัตว์น้ำตามข้อ 1. และข้อ 2. ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร ทั้งนี้ หากคิดคำนวนพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใด จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงิน ต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท

นอกจากนี้ จากหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาฉบับที่ 5 กรมชลประทาน (วันที่ 27 ส.ค.) แจ้งเตือน 11 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 11 จังหวัด เฝ้าติดตามและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด กรมประมงขอประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกัน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้
1. คำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน
(1) ให้เกษตรกรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
(2) ปรับปรุงคันบ่อ และเสริมคันบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้สูงกว่าปริมาณน้ำที่เคยท่วมในปีที่ผ่านมา
(3) จัดทำร่องระบายน้ำและขุดลอกตะกอนดินที่จะทำให้ร่องระบายน้ำตื้นเขินออก เพื่อให้น้ำไหลเข้าออกได้สะดวก
(4) ควบคุมการใช้นำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีปริมาณพอเหมาะหรือปริมาณ 2 ใน 3 ส่วนของน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
(5) จัดเตรียมเครื่องเพิ่มออกซิเจนในน้ำไว้ให้พร้อมเพื่อใช้ในการดำเนินการช่วยสัตว์น้ำในบ่อ กรณีน้ำจากภายนอกไหลเข้าบ่อกะทันหัน
(6) จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น อวน เครื่องสูบน้ำ เครื่องเพิ่มออกซิเจน ยาปฏิชีวนะ สารเคมีไว้ให้พร้อม
(7) ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภคเพื่อเป็นการลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ เพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด
(8) เตรียมปูนขาวไว้สำหรับปรับสภาพน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหลังน้ำท่วมปริมาณ 50-60 กิโลกรัม/ไร่
(9) ตรวจสอบคุณภาพน้ำภายนอกหากจะนำน้ำภายนอกเข้าบ่อจะต้องแน่ใจว่าน้ำที่นำเข้าในบ่อมีสภาพปกติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันน้ำเสียเข้าบ่อ เช่น สังเกตสัตว์น้ำตามธรรมชาตินอกบ่อมีการว่ายน้ำปกติ ฯลฯ
(10) หลีกเลี่ยงการปล่อยสัตว์น้ำในขณะฝนตก
(11) วางแผนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับฤดูกาล และสภาพพื้นที่เพื่อให้สามารถจับสัตว์น้ำก่อนการเกิดอุทกภัยหรือน้ำหลาก
2. คำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง
(1) ให้เกษตรกรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
(2) ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อเป็นการลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ เพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด
(3) ควรจัดวางกระชังให้มีระยะห่างกันพอสมควร เพื่อให้น้ำมีการหมุนเวียนถ่ายเทสะดวก (กระชังที่วางควรมีการจัดวางเป็นแถว และทำความสะอาดกระชัง เพื่อให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดี)
(4) ควรหมั่นตรวจสอบดูแลความคงทนแข็งแรงของกระชังอยู่เสมอ เปลี่ยนเนื้ออวนกระชัง และปิดด้านบนกระชังด้วยเนื้ออวน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำที่เลี้ยงออกจากกระชัง
(5) จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เนื้ออวน ยาปฏิชีวนะ วิตามิน และสารเคมี ตลอดจนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจับสัตว์น้ำไว้ให้พร้อม
(6) สำหรับกระชังที่อยู่บริเวณแนวทางเดินของน้ำ ควรระมัดระวังในช่วงที่มีน้ำหลาก และควรเลื่อนกระชังออกจากบริเวณดังกล่าว เพราะอาจเกิดความเสียหายจากความแรงของน้ำหลากและสิ่งเจือปนที่มากับกระแสน้ำ
(7) วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะกับฤดูกาลเพื่อสามารถจับสัตว์น้ำได้ก่อนน้ำหลาก

ท้ายนี้ กรมประมงจะเร่งดำเนินการทุกมิติอย่างเต็มกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวประมง และหากเกษตรกรต้องการคำแนะนำสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประมทงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กรมประมง โทร 02 558 0218 และ 02 561 4740

0 Shares