คลังเก็บหมวดหมู่: เทคโนโลยี-นวัตกรรม

สวทช. นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ‘บริหารจัดการอาหารส่วนเกิน’ สร้างมาตรฐานการส่งต่อ หนุน Thailand’s Food Bank

สวทช. นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ‘บริหารจัดการอาหารส่วนเกิน’
สร้างมาตรฐานการส่งต่อ หนุน Thailand’s Food Bank

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC 2) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมนักวิจัยพบสื่อมวลชน NSTDA Meets the Press เรื่อง สวทช. นำ วทน. ช่วยบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) เนื่องจากประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่มีการรายงานตัวเลขของประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อยและมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารประมาณ 3.8 ล้านคน

ดร.ปัทมาพร ประชุมรัตน์ นักวิจัยนโยบาย สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ การจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย กล่าวว่า สวทช. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สาขาอาหาร ได้ร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ดำเนินการศึกษาและวิจัยเชิงนโยบายเพื่อสร้างต้นแบบการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดย สวทช. ได้นำองค์ความรู้ของทีมวิจัยและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) เพื่อสร้างแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคมไทย ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร และการส่งต่ออาหารส่วนเกิน เพื่อช่วยลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ
ทั้งนี้ สวทช. ได้นำองค์ความรู้ของทีมวิจัยต่าง ๆ มาร่วมกันดำเนินงานบนฐานความเชี่ยวชาญภายใต้สาขาของเทคโนโลยีที่หลากหลาย ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัลและการคำนวณขั้นสูง และ เทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทีมวิจัยเริ่มต้นจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการดำเนินงาน ที่มุ่ง เน้นการใช้องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอาหารและอาหารปลอดภัย เนื่องจากในกระบวนการส่งต่ออาหารส่วนเกิน ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาหารเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึง สวทช. โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มีทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร (IFBT) ที่มีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ด้านอาหารปลอดภัย (Food safety) สามารถประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญในการทดสอบความปลอดภัยของอาหารส่วนเกินที่มีข้อกังวลหรือคาดว่าจะมีความเสี่ยงด้วยกระบวนการวิเคราะห์ทดสอบในห้องปฏิบัติการ
ดร. นิภา โชคสัจจะวาที นักวิจัยอาวุโสและคณะผู้วิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) กล่าวเสริมว่า การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยเสริมการจัดการ มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานของอาหาร โดยทีมวิจัยได้จัดทำแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) ที่มีแนวทางปฏิบัติตั้งแต่ขั้นตอนการรับอาหาร การเก็บรักษาอาหาร การขนส่ง การแจกจ่ายอาหาร หลักปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสอาหาร เช่น การแช่แข็งอาหารส่วนเกินและติดฉลากใหม่ การระบุวันที่และระยะเวลาที่แนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและการควบคุมอันตราย เช่น สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ หลักปฏิบัติในการเตรียมอาหาร เช่น การทำละลายอาหารแช่แข็ง การทำให้สุก ทำให้เย็น อุ่นร้อน การรักษาความปลอดภัยอาหารระหว่างขนส่ง เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เพื่อให้อาหารที่แจกจ่ายยังคงมีความปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค ช่วยให้เกิดความมั่นใจทั้งต่อผู้บริจาคและผู้รับบริจาครวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการบริจาคอาหารในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
· ดึงดิจิทัลเทคโนโลยี จับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ
ดร.นันทพร รติสุนทร ทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า ทีมวิจัยซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์และปัญญาประดิษฐ์ (Applied Mathematics and Artificial Intelligence) และประสบการณ์ในการออกแบบและพัฒนาวิธีการและระบบ Intelligent Digital Platform เช่น ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ และระบบเชื่อมโยงผลผลิตเพื่ออาหารกลางวัน นำมาสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยเป็นเครื่องมือดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพอัตโนมัติ สามารถนำไปเชื่อมต่อกับระบบ Cloud Food Bank มีมูลนิธิ SOS และองค์กรพันธมิตรเครือข่ายเป็นผู้ใช้งาน โดยแพลตฟอร์มสามารถนำเสนอและแนะนำตัวเลือกการจัดสรรอาหารบริจาคพร้อมตารางเส้นทางการรับส่งอาหาร เพื่อลดความเสียหายของอาหาร และสามารถกระจายอาหารบริจาคได้ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานกำหนด เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ ลดภาระงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับผู้ใช้งานในการจัดการอาหารบริจาคได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วบนฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อรองรับการขยายฐานผู้บริจาคซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลดปริมาณอาหารส่วนเกิน และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน อีกทั้งช่วยลดภาระงานและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้ดูแลระบบได้ดีขึ้น ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าว ล่าสุดทางเนคเทคได้ขยายการใช้งานโดยอยู่ระหว่างหารือความร่วมมือกับ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการด้วย
· สร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์
ด้าน ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า เอ็มเทค โดยทีมวิจัย TIIS ได้พัฒนาแนวทางและการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของอาหารส่วนเกิน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12.3 การลดขยะอาหารของประเทศ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss and Waste) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ตามหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)
ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำรวมทั้งแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 – 2579 กำหนดเป้าหมาย SCP 3 ส่งเสริมให้ประเทศไทยมีระบบอาหารที่ยั่งยืน ในปี 2570 ต้องลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารลงร้อยละ 5 ต่อปีจากปีฐาน และแผนระยะยาว คือ การเพิ่มอัตราการหมุนเวียนวัสดุสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตร-อาหาร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี 2570 ทีมวิจัยได้นำแนวคิดด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment : LCA) สำหรับประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Environmentally implications: Climate change) หรือภาวะโลกร้อน จากอาหารส่วนเกินเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มบริการอาหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งทำให้เกิดผลดีต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะนําไปสู่การลดขยะอาหารในอนาคต อีกด้วย”
“นอกจากนี้ TIIS รับผิดชอบจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของประเทศไทย (Thai National LCI database) และค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs Emission Factor: EF)

ดังนั้น จึงสามารถนำโครงสร้างพื้นฐานและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้กับการจัดการอาหารส่วนเกินได้ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าร้านอาหารแห่งหนึ่งบริจาคอาหารส่วนเกิน 50 กิโลกรัม จะสามารถคำนวณได้ว่าการบริจาคครั้งนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กี่ต้น หรือลดการใช้พลังงานเท่ากับการปิดไฟกี่ชั่วโมง ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริจาคเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม แต่ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรด้วย ในอนาคต เรายังเล็งเห็นโอกาสที่องค์กรจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการขอรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาจนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดได้ สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การลดขยะอาหารอย่างยั่งยืนในระยะยาว ” ดร.นงนุชกล่าว

ดร.ปัทมาพร กล่าวด้วยว่าสวทช. ได้ขับเคลื่อนโครงการการศึกษาแนวทางบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน หรือ Food surplus โดยที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาและทบทวนกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และมีการประชุมรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่าข้อมูลจุดสำคัญของอาหารส่วนเกิน คือ 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตขึ้นมา จะถูกทิ้งซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต รวมถึงยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศด้วย โดยที่ผ่านมาโครงการฯ ได้มีความพยายามพัฒนาแนวทางการบริจาคอาหารส่วนเกินออกมาให้เหมือนกับประเทศอื่น ๆ

รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี มาตรการด้านคาร์บอน เพื่อส่งเสริมการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับ Food Bank เหมือนเช่นในหลายๆ ประเทศ ซึ่งทั้ง 2 มาตรการ ถือเป็นแนวทางเพื่อให้การจัดตั้ง Food Bank เกิดขึ้นได้จริงและไปต่อได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

“เรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์และคาร์บอนเครดิต ซึ่งการมีคาร์บอนเครดิตกับการบริจาคอาหารส่วนเกินนั้น โครงการฯ อยากเห็นภาพของ Food Bank ในประเทศไทยที่ขายคาร์บอนเครดิต จากการลดปริมาณขยะอาหารดังที่เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศเม็กซิโก ซี่งจะช่วยพลิกโฉมการดำเนินงาน Food Bank จากเดิมในรูปแบบการกุศล เป็นการขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งในส่วนนี้ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ (audit) ที่จะเกิดขึ้นด้วย” ดร.ปัทมาพร กล่าว

0 Shares

สกสว. ชวนร่วมมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์วิจัย และนวัตกรรมใหญ่ที่สุดแห่งปี“TRIUP FAIR 2024”

สกสว. ชวนร่วมมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์วิจัย และนวัตกรรมใหญ่ที่สุดแห่งปี“TRIUP FAIR 2024”

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ หน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 แห่ง และภาคีเครือข่าย เชิญชวนผู้ประกอบการ นักลงทุน นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา และผู้ที่สนใจ ร่วมงาน “TRIUP FAIR 2024” มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมที่รวบรวมกิจกรรมไว้หลากหลาย พบกับ 150 ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านการแพทย์สุขภาพ การเกษตรอาหารมูลค่าสูง ด้าน Netzero&PM2.5 และด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่พร้อมจับคู่เจรจาธุรกิจ

นอกจากนี้ยังมี One stop service ของหน่วยงานในระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมจาก 5 กระทรวง ที่คุณสามารถมาปรึกษาภายในงานแบบที่เดียวจบ อาทิ การให้คำปรึกษาเรื่องทุนสนับสนุนวิจัยและนวัตกรรมจาก 9 PMU สินเชื่อ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับนวัตกรรมจากธนาคารต่างๆ การยื่นขอรับรองมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การตรวจวิเคราะห์ ศูนย์ทดลองทางคลินิก การยื่นขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการขึ้นบัญชีนวัตกรรม การให้คำปรึกษา จาก อย. การให้คำปรึกษาทางธุรกิจและหน่วยบ่มเพาะต่างๆ การให้คำปรึกษาด้านการตลาดและการส่งออก กลไกส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ ตลาดสินค้านวัตกรรมไทย (shopping cart) และหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมจากประเทศสิงค์โปร์ เกาหลีและจีน

และไฮไลท์กับการร่วมสมัครคัดเลือกเข้าสู่รายการ SharkTank Thailand ที่จะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระบบวิจัยของประเทศ พบกันได้ตั้งแต่วันที่ 24 – 26 ก.ย. ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรี!!ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปที่ : https://triupfair.net/ หรือติดตามรายละเอียดและข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: สกสว. หรือกดลิงค์ https://www.facebook.com/ThailandScienceResearchandInnovation

0 Shares

12 ก.ย.นี้ ETDA ก้าวสู่ปีที่ 14 เตรียมโชว์ผลงานเด่น รอบ 4 ปี

12 ก.ย.นี้ ETDA ก้าวสู่ปีที่ 14 เตรียมโชว์ผลงานเด่น รอบ 4 ปี

พร้อมเปิดแผน ปี 68 กับ 4 โจทย์ใหญ่! ชูธง “ก้าวที่มั่นคง เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจ”

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) พร้อมก้าวสู่ปีที่ 14 แห่งการขับเคลื่อนอนาคตธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ กับงาน “14 ปี ETDA: ก้าวที่มั่นคง เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจ” จัดเต็ม! โชว์ผลงานเด่นครั้งใหญ่ รอบ 4 ปี กับ 4 โจทย์ใหญ่ ‘Digital ID – Digital Platform Services & AI Governance – SMEs Digital Transformation – Digital Workforce, Literacy and Protection’ ชีวิตดิจิทัลคนไทย เปลี่ยนไปแค่ไหน? และครั้งแรก! กับการเปิดก้าวที่มั่นคงแห่งปี 2568 ใต้บทบาทสุดเข้มข้น! Co-Creation Regulator & Promoter เพื่อคนไทยทำธุรกรรมออนไลน์ ง่าย สะดวก มั่นใจ และปลอดภัยยิ่งขึ้น หาคำตอบพร้อมกัน! 12 กันยายนนี้ ที่เพจ ETDA Thailand

เมื่อวันที่9 ก.ย. ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า การขับเคลื่อนอนาคตธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ เพื่อให้คนไทยชีวิตดีกว่าที่เคย…ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มาพร้อมเป้าหมายใหญ่ กับตัวเลข 30:30 กับ การเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็น 30% และวางเป้าให้ไทยเป็น 30 อันดับแรกของโลกที่มีความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ภายในปี 2570 นี่คือโจทย์สำคัญที่ ETDA เดินหน้าดำเนินงานผ่านภารกิจต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้บทบาท ทั้ง Co-Creation Regulator ที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นที่เกี่ยวข้องกับ ธุรกิจบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform Services) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางออนไลน์สำหรับทุกภาคส่วน รวมถึงบทบาทในการเป็น Promoter ที่มุ่งส่งเสริมและสนับให้คนไทยพร้อมเปลี่ยนผ่านการใช้ชีวิต การทำงานและการทำธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม เกิดการสร้างรายได้ ไปพร้อมๆ กับพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัล เพื่อการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรู้เท่าทัน เพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนสมาคม เครือข่ายคนรุ่นใหม่และหน่วยงานในพื้นที่ทั่วประเทศ

ดังนั้น การแถลงผลงานกับ “14 ปี ETDA ก้าวที่มั่นคง เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจ” ที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 12 ก.ย. เวลา 10.30 – 11.20 น ถือเป็นงานแถลงข่าวครั้งสำคัญ! ประจำปีของ ETDA ที่จะพาทุกคนไปร่วมอัปเดตเปิดผลการดำเนินงานเด่นในรอบ 4 ปี (พ.ศ. 2564 – 2567) กับ 4 โจทย์สุดท้าทาย ไม่ว่าจะเป็น ‘1. Digital ID ผ่านบริการดิจิทัลที่สำคัญ 2. Digital Platform Services & AI Governance ลดความเสี่ยง ร่วมเร่งเครื่องเศรษฐกิจด้วยกลไกทั้งการกำกับดูแล และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีธรรมาภิบาล 3. SMEs Digital Transformation เพื่อขยายผลและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ จนถึงชุมชนเกิดการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลสู่การเพิ่มรายได้ และขยายโอกาสใหม่ และ 4. Digital Workforce, Literacy and Protection เสริมทักษะคนไทย สู่แรงงานดิจิทัลที่รู้เท่าทัน’ ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ชีวิตดิจิทัลของคนไทย เปลี่ยนไปแค่ไหน? นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรก! กับการเปิดก้าวที่มั่นคง แห่งปี 2568 ของ ETDA ที่มาพร้อมเป้าหมายใหญ่ เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจและวางใจได้ของคนไทยทุกคนสู่ #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล จะไปต่อในทิศทางไหนบ้าง มีประเด็นความท้าทายหลายเรื่องที่ต้องเสริมความเข้มข้น เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น ควบคุมความเสี่ยง และแก้ไขปัญหาผ่านมาตรการสำคัญ ที่จะช่วยให้คนไทยก้าวสู่ชีวิตดิจิทัลไปอีกระดับ มาฟังพร้อมกันได้ที่งานนี้

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดงานแถลงข่าว “14 ปี ETDA ‘ก้าวที่มั่นคง เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจ” ได้ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ก.ย.เวลา 10.30 – 11.20 น ที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand https://www.facebook.com/ETDA.Thailand

0 Shares

อบจ.นครศรีธรรมราช ส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นำโดรนแปรอักษรถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนและทีมงานส่งเสริมการท่องเที่ยว

อบจ.นครศรีธรรมราช ส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นำโดรนแปรอักษรถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนและทีมงานส่งเสริมการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)นครศรีธรรมราช และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติ เรื่อง “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. เป็นประธานในพิธี โดยมีนางกนกพร เดชเดโช นายกอบจ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยผู้บริหารในส่วนพื้นที่ให้การต้อนรับ ที่ห้องประชุมศาลาประชาคม โรงละคร ชั้น 3 อบจ.นครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช

ดร.วิภารัตน์ กล่าวถึงบทบาท วช. ที่สนับสนุนการพัฒนาและการส่งเสริมเพื่อสร้างการเรียนรู้ในนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดยเทคโนโลยีโดรน สามารถประยุกต์การใช้ประโยชน์ในภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรม เพื่อเสริมทักษะให้กับเยาวชนและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ สามารถต่อยอดและเติบโตได้ยั่งยืนขึ้น รวมทั้ง สามารถสร้างรายได้ให้กับภาคประชาชนในการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น มากิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้จัดขึ้นต่อเนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค ในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นจังหวัดที่ 3 ของภาคใต้ ที่จ.นครศรีธรรมราช โดยมุ่งส่งเสริม และสนับสนุนการด้านการเรียนรู้ การเข้าใจและแรงจูงใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆในอนาคต

นางกนกพร กล่าวว่า จ.นครศรีธรรมราช ขอขอบคุณกระทรวง อว. และ วช. พร้อมด้วยสมาคมเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบินโดรนถ่ายภาพมุมสูง ให้กับเยาวชนในสถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราช อีกทั้งยังสนับสนุนให้จ.นครศรีธรรมราชเป็น 1 ใน 4 จังหวัดต้นแบบโซนภาคใต้ เพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมตามโครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว : ภาคใต้” จ.นครศรีธรรมราชหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้ และเทคนิคต่าง ๆ เพื่อนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในการทำงาน หรือใช้ในเกิดประโยชน์ต่อไป

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมทางด้านการท่องเที่ยว และเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีเกี่ยวกับโดรนผ่านกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ การถ่ายทอดความรู้ด้านการบินโดรนถ่ายภาพมุมสูง ให้แก่เยาวชนในสถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ให้มีส่วนเสริมศักยภาพด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมีแผนดำเนินกิจกรรมใน 4 จังหวัด จ.เพชรบุรี จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช และจ.สงขลา ที่ตอบรับการนำความรู้ในด้านปัญญาประดิษฐ์ไปสร้างโอกาสใหม่ด้านการ ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นในการนำโดรนไปประยุกต์ใช้ในงานด้านการท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าฝึกอบรม ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมสนับสนุน โดย วช. โครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สามารถติดตามข่าวสารการอบรมได้ที่ Facebook Fanpage: วช. และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ

0 Shares

บริษัท ยุงค์ไฮน์ริช ลิฟท์ ทรัค จำกัด เปิดตัว “ศูนย์สร้างประสบการณ์ NXT Warehouse” ตอกย้ำบทบาทในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันอุปกรณ์จัดการวัสดุคลังสินค้าที่ยั่งยืนและทันสมัยในประเทศไทย

บริษัท ยุงค์ไฮน์ริช ลิฟท์ ทรัค จำกัด เปิดตัว “ศูนย์สร้างประสบการณ์ NXT Warehouse” ตอกย้ำบทบาทในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันอุปกรณ์จัดการวัสดุคลังสินค้าที่ยั่งยืนและทันสมัยในประเทศไทย

• ยุงค์ไฮน์ริช เปิดตัวศูนย์สร้างประสบการณ์ NXT Warehouse ในประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์สร้างประสบการณ์แห่งที่สองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายใต้แบรนด์ยุงค์ไฮน์ริช
• จัดแสดงโซลูชันอุปกรณ์จัดการวัสดุคลังสินค้าที่ทันสมัย อาทิ รถยกอัตโนมัติไร้คนขับ (AGV), รถยกสูงที่ใช้งานในพื้นที่แคบ (VNA), รถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน, ชั้นวางสินค้า และโซลูชันด้านความปลอดภัยสำหรับคลังสินค้า
• ผู้นำในการให้บริการโซลูชันอุปกรณ์จัดการวัสดุคลังสินค้าที่ยั่งยืน ที่ผลิตและคิดค้นเทคโนโลยีลิเธียมไอออนมาใช้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ในเครือ
• มุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพและสร้างความยั่งยืนให้กับคู่ค้า ผู้ที่สนใจ และสมาคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย
• การปรับปรุงสถานที่ทำงานครั้งนี้ เปรียบเสมือนเครื่องหมายตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างแรงบันดาลใจและประสิทธิภาพในการทำงานและดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลา 19 ปี ของยุงค์ไฮน์ริช ในประเทศไทย
จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย

วันที่ 30 สิงหาคม 2567 ยุงค์ไฮน์ริช ผู้นำเข้า จัดจำหน่าย และให้บริการเทคโนโลยีโซลูชันอุปกรณ์จัดการวัสดุคลังสินค้าสัญชาติเยอรมนี เปิดตัวสำนักงานพร้อมศูนย์สร้างประสบการณ์ NXT Warehouse แห่งแรกในประเทศไทย ที่สำนักงานใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ

ยุงค์ไฮน์ริช ได้รับเกียรติจาก น.ส. จันทรัศม์ ก. บัวเกษร หัวหน้าฝ่ายสมาชิกกิจกรรม และการสื่อสาร หอการค้าเยอรมัน – ไทย และ น.ส. สิรินทร อินทร์สวาท ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเชิงกลยุทธ์และประเมินผลเนคเทค สวทช. มาเป็นแขกผู้มีเกียรติร่วมเปิดพิธี พร้อมผู้บริหารระดับสูงจากยุงค์ไฮน์ริช มร.สเตฟาน เบรม – รองประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, มร.มโนจิต อชายา – กรรมการผู้จัดการ ยุงค์ไฮน์ริช ประเทศอินเดีย และประเทศไทย และ มร.บาร์โธโลมิ เฮ็นดรี อาดรีอนัส สแปรงเกอร์ – ผู้จัดการทั่วไป ยุงค์ไฮน์ริช ประเทศไทย
พิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ประกอบด้วยเหตุการณ์สำคัญต่างๆมากมาย อาทิ การกล่าวแสดงจุดยืนในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ที่มีภารกิจและพันธกิจที่เน้นย้ำในเรื่องของนวัตกรรมที่สร้างประสิทธิภาพให้กับคู่ค้า และสร้างความยั่งยืนสู่สังคมจากผู้บริหารระดับสูงยุงค์ไฮน์ริช

พร้อมทั้งจัดแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ รถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และไฮไลท์ เทคโนโลยีรถยกอัตโนมัติไร้คนขับ รุ่น EKS 215a ภายในศูนย์สร้างประสบการณ์ NXT Warehouse แห่งใหม่ศูนย์สร้างประสบการณ์ NXT Warehouse เปรียบเสมือนพื้นที่ในการถ่ายทอดความตั้งใจของยุงค์ไฮน์ริช ที่จะนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ของอุปกรณ์จัดการวัสดุคลังสินค้า และแบ่งปันประสบการณ์จากบุคลากรของเราให้กับผู้ที่สนใจ ตั้งแต่รถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้าตลอดจนชั้นวางสินค้าและระบบซอฟต์แวร์อัจฉริยะ

โดยยุงค์ไฮน์ริชสามารถให้บริการโซลูชันคลังสินค้าได้อย่างครบวงจรที่ทั้งสามารถออกแบบได้ตามความต้องการที่มีอย่างหลากหลายในปัจจุบัน และในฐานะที่ยุงค์ไฮน์ริชเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชันอุปกรณ์จัดการวัสดุคลังสินค้า (Material Handling Equipment หรือ MHE) แน่นอนว่าเราสามารถให้คำปรึกษาได้ทุกรูปแบบการจัดเก็บและขนย้ายสินค้า เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติปฏิบัติการ โซลูชันชั้นวางสินค้า รถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและให้ความปลอดภัยสูง ยุงค์ไฮน์ริชมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องด้วยการนำเทคโนโลยีลิเธียมไอออนมาใช้กับรถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้าที่เราจำหน่าย

ซึ่งปัจจุบันรถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนได้ถูกจำหน่ายไปแล้วกว่า 1,000,000 คันทั่วโลก ซึ่งนั่นช่วยให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 20% สะท้อนแนวโน้มของตลาดในการปรับตัวและหันมาใช้รถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้ากันมากขึ้นในประเทศไทย เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าอุตสาหกรรมในไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนโดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ในกระบวนการปฏิบัติงาน ในฐานะที่ยุงค์ไฮน์ริชเป็นองค์กรที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างคุณค่าด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราได้รับรางวัล Platinum ระดับสูง ซึ่งถูกจัดอันดับอยู่ใน Top 1% จากบริษัทชั้นนำทั่วโลกที่สร้างความยั่งยืนมาต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน จาก EcoVadis ผู้ประเมินด้านความยั่งยืนของธุรกิจที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

นอกจากเทคโนโลยีใหม่ๆที่ยุงค์ไฮน์ริชคิดค้นมาเพื่อสร้างความยั่งยืนแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับรถยกปรับสภาพที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ด้วยเช่นกัน โดยในประเทศไทย ยุงค์ไฮน์ริชมีศูนย์ปรับสภาพรถยกแห่งเอเชียแปซิฟิก ที่สามารถปรับสภาพรถยกที่ใช้งานแล้วให้กลับมาใช้งานได้ใหม่ การันตีด้วยจำนวนรถยกที่ถูกปรับสภาพแล้วทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกกว่า 1,000 คัน นับตั้งแต่เปิดตัวศูนย์ฯ ซึ่งการใช้รถปรับสภาพทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับการซื้อรถใหม่มาใช้งาน
โครงการริเริ่มเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงความเป็นผู้นำของยุงค์ไฮน์ริชในด้านความยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของยุงค์ไฮน์ริชในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์พร้อมทั้งมอบโซลูชันอุปกรณ์จัดการวัสดุที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย


ผู้บริหารระดับสูงจากยุงค์ไฮน์ริช มร.สเตฟาน เบรม – รองประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว “ที่ยุงค์ไฮน์ริชเรามุ่งมั่นที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมการจัดการวัสดุด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน ‘ศูนย์สร้างประสบการณ์ NXT Warehouse’ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราที่มีต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและโดยเฉพาะประเทศไทย ในการพัฒนาโซลูชันอุปกรณ์จัดการวัสดุและคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ที่สุดสำหรับคู่ค้าของเรา เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้แบ่งปันวิสัยทัศน์และความก้าวหน้าของเรากับผู้นำในอุตสาหกรรมและพันธมิตร”

มร.บาร์โธโลมิ เฮ็นดรี อาดรีอนัส สแปรงเกอร์ – ผู้จัดการทั่วไป ยุงค์ไฮน์ริช ประเทศไทย กล่าว “พันธกิจของเราคือการสร้างคลังสินค้าแห่งอนาคตในประเทศไทย ประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และนวัตกรรมต้องมาควบคู่กัน เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านและพิสูจน์ให้เห็นว่ายุงค์ไฮน์ริช เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของคลังสินค้าอย่างไร การปรับปรุงสำนักงานของเราตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการสร้างสถานที่ทำงานที่สร้างแรงบันดาลใจและมีประสิทธิผล ในขณะที่ศูนย์สร้างประสบการณ์ NXT Warehouse แห่งใหม่ของเราจะมอบพื้นที่ประสบการณ์ให้กับคู่ค้าและผู้ที่สนใจได้สัมผัสกับโซลูชันล้ำสมัยของเรา ช่วยให้พวกเขาบรรลุประสิทธิภาพและความยั่งยืนที่มากขึ้นในการดำเนินงานของพวกเขา”

###
เกี่ยวกับยุงค์ไฮน์ริช
ยุงค์ไฮน์ริช ผู้นำด้านอุตสาหกรรมการบริการโซลูชั่นด้านอินทราโลจิสติกส์ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 70 ปี ยุงค์ไฮน์ริชคิดค้นและสรรหาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นนวัตกรรมและยั่งยืน ในฐานะผู้บุกเบิกในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว เรามุ่งมั่นสร้างคลังสินค้าแห่งอนาคตอยู่อย่างต่อเนื่อง และในปีการเงิน พ.ศ. 2566, ยุงค์ไฮนริชและพนักงานทั่วโลกกว่า 21,000 คนสามารถสร้างรายได้มากถึง 5.5 พันล้านยูโร และในปัจจุบันเรามีโรงงานผลิต 12 แห่งทั่วโลก และศูนย์บริการและจำหน่ายสินค้าใน 42 ประเทศ
ยุงค์ไฮน์ริช เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2548 และได้กลายเป็นผู้ให้บริการโซลูชันอุปกรณ์จัดการวัสดุคลังสินค้าที่ยั่งยืนชั้นนำ ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทได้จัดตั้งหน่วยขาย 7 แห่งและบริษัทพันธมิตรมากกว่า 14 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมงานมืออาชีพที่แข็งแกร่ง ซึ่งประกอบด้วยคู่ค้าและผู้เชี่ยวชาญด้านบริการหลังการขาย

0 Shares

ร่วมแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์จากมช.คว้ารางวัล Grand Prize สูงสุดของงาน Indonesia Inventors Day 2024 ที่อินโดนีเซีย

ร่วมแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์จากมช.คว้ารางวัล Grand Prize สูงสุดของงาน Indonesia Inventors Day 2024 ที่อินโดนีเซีย

ขอแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)ที่ทีมนักประดิษฐ์สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย โดยสามารถคว้ารางวัล Grand Prize รางวัลสูงสุดของการจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ “Indonesia Inventors Day 2024” (IID 2024) เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ Aston Denpasar Hotel and Convention Hall

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล Grand Prize ได้แก่ ผลงานเรื่อง “เครื่องดื่มสารสกัดเนื้อผลกาแฟคอฟโฟจีนิกดริ๊งค์” จากมช. โดย รศ. ดร.ชุติมา ศรีมะเริง วรรธนะภูติ และคณะ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นเครื่องดื่มเสริมอาหารสารสกัดเนื้อผลกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้มาจากเนื้อผลกาแฟซึ่งเป็นเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมกาแฟ ทำให้ช่วยลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตได้และเป็นนวัตกรรมที่ทำในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ โดยใช้กระบวนการสกัดที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรมกาแฟ ซึ่งยังมีคุณสมบัติทางด้านโภชนาการและมีสารสำคัญต่างๆ โดยนวัตกรรมดังกล่าวผ่านมาตรฐานรับรองและสามารถผลิตและจำหน่ายได้แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีประดิษฐกรรมและและนวัตกรรมอีก 2 ผลงานที่ได้รับ Special Prizes on stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้
– รางวัล KIPA Special Award จาก Korea Invention Promotion Association สาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ผลงานเรื่อง “บาลานซ์-ดี ระบบเซ็นเซอร์ไร้สายเพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการล้ม พร้อมโปรแกรมการฝึกบริหารร่างกายเพื่อเพิ่มทักษะการทรงตัว” โดย ผศ.ดร.ศิริพันธุ์ คงสวัสดิ์ และคณะ จาก มช.
– รางวัล Technopol Group Special Award จาก Technopol Group Moscow สหพันธรัฐรัสเซีย ได้แก่ ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมรัดนิ้วข้อมือหัก” โดย นายปรัชญา สร้างนา และคณะ จาก วิทยาลัยเทคนิคปักธงชัย

ในเวที IID ผลงานของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยได้คว้าเหรียญรางวัลในระดับต่างๆ ดังนี้
– เหรียญทอง 14 ผลงาน
– เหรียญเงิน 9 ผลงาน
– เหรียญทองแดง 4 ผลงาน
พร้อมด้วย Special Prize จากประเทศต่างๆ อาทิ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐจีน เป็นต้น

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมในพิธีมอบรางวัลและได้แสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที IID พร้อมกล่าวชื่นชมทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงและการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทยในเวทีนานาชาติในครั้งนี้ รวมทั้ง โอกาสในการส่งเสริมและต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป

สำหรับ 9 หน่วยงานจากประเทศไทยที่ร่วมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการคว้ารางวัลในเวที Indonesia Inventors Day 2024 ได้แก่
1. มหาวิทยาลัยบูรพา
2. มช.
3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
4. วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี
5. วิทยาลัยเทคนิคปักธงชัย
6. วิทยาลัยการอาชีพไชยา
7. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
8. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย
9. โรงเรียนสายปัญญารังสิต

0 Shares

อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ผนึกกระทรวงอว. พร้อมด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ ASPA Annual Conference 2025 ครั้งที่ 28 ที่ไทย

อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ผนึกกระทรวงอว. พร้อมด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ ASPA Annual Conference 2025 ครั้งที่ 28 ที่ไทย

ผศ.ดร. วีรชัย อาจหาญ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย พร้อมผู้บริหารจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ ASPA Annual Conference 2024 ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 19-21 ส.ค. ที่ประเทศมองโกเลีย จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Role and Impact of STPs for Regional Development” เพื่อแลกเปลี่ยนและแสวงหาโอกาสความร่วมมือระหว่างองค์กรในระดับภูมิภาคเอเชียที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายในงานมีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม อาทิ คาซัคสถาน อิหร่าน ตุรกี จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นต้น พร้อมกันนี้ประเทศไทยรับมอบและประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงาน ASPA Annual Conference 2025 ครั้งที่ 28


ผศ.ดร. วีรชัย อาจหาญ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ ASPA Annual Conference ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ และเป็นเกียรติอย่างมากที่ประเทศไทยได้รับมอบให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASPA Annual Conference ครั้งที่ 28 ในปี 2025 โดยความร่วมมือของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) กระทรวงอว. และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ, อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1, อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ร่วมกับสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB)

รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และมรดกที่โดดเด่น ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายและอาหารที่มีรสชาติ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญและส่งเสริมการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรมในฐานะตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ จากความสำคัญดังกล่าวกระทรวงอว.จึงได้จัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยขึ้นเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศ โดยเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 ต่อมา ในปี 2554 อว. ได้เริ่มโครงการการพัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 4 แห่ง 3 ภูมิภาค เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และได้ขยายไปสู่อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมากกว่า 44 แห่งทั่วประเทศ และในปี 2567 นี้ กระทรวง อว. มีแผนงานที่จะนำกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคเพื่อยกระดับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านเทคโนโลยีเชิงลึก โครงการนี้จะเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจาก 4 ภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุดมศึกษา และภาคประชาสังคม โดยใช้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจะเป็นศูนย์กลางสำคัญในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทั่วทุกภูมิภาค

พร้อมได้เชิญชวนสมาชิก ASPA จากประเทศต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค โดยมุ่งเน้นใน 7 กลุ่มเทคโนโลยีหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์(Creative Digital Technology) ยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับและเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ (UAV and Smart Electronics Technology) เทคโนโลยี AI และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Digital AI Sensor and Microelectronics Technology) เทคโนโลยีพลังงานและชีวเคมี (Energy and Biochemical Technology (Biorefinery) เทคโนโลยีการสกัด (Extraction Technology) เทคโนโลยีพลาสมา (Plasma Technology) และ เทคโนโลยีโอลีโอเคมี (Oleochemical Technology)

ท้ายนี้ ผศ.ดร.วีรชัย กล่าวขอบคุณอุทยานเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (National Information Technology Park) และอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศมองโกเลีย (Science Park Administration of Mongolia) ที่จัดการประชุม ASPA Annual Conference 2024 ได้อย่างอบอุ่นและในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในปี 2025 ประเทศไทยยินดีให้การต้อนรับสมาชิก ASPA ทุกท่าน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในอนาคต

0 Shares

ดีป้า เปิดแผนการดำเนินงานปี 2568ชูแนวคิด Perform Better, Think Faster and Live Better ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

ดีป้า เปิดแผนการดำเนินงานปี 2568ชูแนวคิด Perform Better, Think Faster and Live Better ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

ดีป้า เผยแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2568 ในงาน ‘depa Digital Intelligence’ ภายใต้แนวคิด Perform Better, Think Faster and Live Better ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

​ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้าแถลงแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2568 ในงาน ‘depa Digital Intelligence’ ภายใต้แนวคิด Perform Better, Think Faster and Live Better ณ อาคาร ดีป้า (สำนักใหญ่แห่งใหม่) ซอยลาดพร้าว 10 เขตจตุจักร โดยมีคณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงสื่อมวลชนร่วมรับฟังการแถลงในครั้งนี้โดยพร้อมเพรียง

ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า ปี 2568 ดีป้า จะยังคงดำเนินงานภายใต้แนวคิด Perform Better, Think Faster and Live Better หรือการส่งเสริมให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น โดย ดีป้า จะให้ความสำคัญกับการยกระดับกำลังคนและบุคลากรดิจิทัลของประเทศ โดยสานต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 อย่าง ‘โค้ดดิ้ง’ แก่ประชาชนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย มุ่งสร้างกำลังคนดิจิทัลในกลุ่มนิสิตและนักศึกษา รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 2 ปีในสาขา IT และ Non IT ที่ต้องการเข้ามาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความพร้อมโดยการส่งเสริมทักษะที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพสากลก่อนป้อนเข้าสู่ระบบ ภายใต้โครงการรัฐร่วมเอกชนส่งเสริมทักษะใหม่
ที่ดำเนินการผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการให้ทุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

นอกจากนี้ ดีป้า จะขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ พร้อมส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์สั้น หนังใบ้ที่สร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการดำเนินโครงการสำคัญอย่าง depa ESPORTS กลไกการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม ESPORTS ของไทย รวมถึงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ทั้งการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยในทุกระยะการเติบโต การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกลไกบัญชีบริการดิจิทัล (Thailand Digital Catalog) มาตรฐาน dSURE โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ตลอดจนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย แผนส่งเสริมเทคโนโลยี Blockchain และ Quantum Computing รวมถึงโครงการเรือธงอย่าง 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD) (ชุมชนโดรนใจ)1 ตำบล 1 ดิจิทัล (สมาร์ทลีฟวิ่ง) และ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ทุเรียนดิจิทัล)

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวถึงการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาว่า ดีป้า ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ รวมกว่า 1,560 โครงการ ผ่าน 13 มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนของสำนักงานฯ รวมวงเงินอนุมัติกว่า 1,930 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 24,300 ล้านบาท โดย ดีป้า ดำเนินงานตามแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลทุกมิติทั้งการยกระดับกำลังคนและบุคลากรดิจิทัล การเปลี่ยนเศรษฐกิจดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การสร้างโอกาสใหม่และกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

สำหรับแนวทางการยกระดับกำลังคนและบุคลากรดิจิทัลของ ดีป้า แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะยาวกับโครงการ Coding Thailand ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโค้ดดิ้ง และล่าสุดกับโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ระยะกลางกับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการให้ทุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ระยะสั้นกับโครงการ CONNEXION ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพการใช้ดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อสร้างยอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแก่บรรดาผู้ประกอบการผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อต่าง ๆ เช่น การสร้าง Storytelling การ Live ขายสินค้า การเปิดร้านค้าใน Social Commerce การใช้ข้อมูลวิเคราะห์ช่องทางขายสินค้าออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์ม eTailligence ฯลฯ

การเปลี่ยนเศรษฐกิจดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยการยกระดับ Formal Sector เพื่อ Transform Informal Sector ผ่านการมุ่งพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ การส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพ การเปลี่ยนอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์แบบดั้งเดิมสู่ฮาร์ดแวร์ที่มีซอฟต์แวร์ฝังตัว รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ นอกจากนี้ยังได้จัดทำบัญชีบริการดิจิทัลที่รวมสินค้าและบริการจากดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดมาตรฐาน dSURE โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลแล้วกว่า 400 รายการ สำหรับการสร้างโอกาสใหม่และกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียม ดีป้า ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมผ่านบัญชีบริการดิจิทัล เมืองสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชนได้ตรงจุด

​สุดท้ายคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการ Thailand Digital Valley ศูนย์กลางการออกแบบ พัฒนา วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลองเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ล่าสุดกับอาคาร Digital Startup Knowledge Exchange Center อาคารแห่งที่สองของโครงการฯ ที่เปิดให้บริการแล้วและได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ CENTERPOINT พื้นที่เรียนรู้ด้านดิจิทัล ขนาดพื้นที่ 150 ตารางเมตรบนชั้น 3 ของอาคาร ขณะที่อาคาร Digital Innovation Center, Digital Edutainment Complex และ Digital Go Global Center คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2568

​“ดีป้า มุ่งผลักดันให้คนไทย Perform Better, Think Faster and Live Better หรือส่งเสริมให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างถูกต้องและชาญฉลาด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ทั้งนี้ ดีป้า พร้อมทำงานเพื่ออนาคตของคนไทยและเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลก ตามวิสัยทัศน์ “We work smart every day to build a world-class digital economy and to help people perform better, think faster and live better.” ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารต่าง ๆ ผ่านทุกช่องทางการสื่อสารของ ดีป้า ไม่ว่าจะเป็น www.depa.or.th, LINE OA: depaThailand และ Facebook Page: depa Thailand

0 Shares

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567’

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เปิดงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567’

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” หรือ Thailand Research Expo 2024 ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย อย่างยั่งยืน” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นจากนักวิจัยไทย อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพด้านงานวิจัย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรม

โดยมี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหาร นักวิจัย เฝ้ารับเสด็จฯ ที่ห้องบอลรูม โรงแรมเซนทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ในการนี้ มีพระราชดำรัสเปิดงาน ความว่า “การจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนางานวิจัยในประเทศให้เข้มแข็งเป็นระบบ มีคุณภาพ เพื่อส่งต่องานวิจัยเพื่อขยายผลต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในสังคม การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ จะเกิดผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยกระบวนการวิจัยที่ผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างมาก และพิสูจน์แล้วว่าทำได้และก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มพูนศักยภาพและพัฒนางานวิจัยของไทยให้ดีขึ้นตามลำดับ และเป็นที่ประจักษ์ว่าผลงานที่ได้จากงานวิจัยนั้นใช้ประโยชน์ได้จริง เห็นถึงความตั้งใจและความร่วมมือของประชาชนในการสนับสนุนงานวิจัย ความตื่นตัวที่จะพัฒนางานวิจัยอันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อสังคมส่วนร่วม”

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 ครั้งนี้ อว.โดย วช. มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงและสร้างพลังแห่งความร่วมมือในทุกเครือข่ายงานวิจัยในการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม สำหรับรูปแบบการจัดงานแบ่งออกเป็น 6 ธีม ซึ่งครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในหลากหลายมิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ BCG, Soft Power, เศรษฐกิจใหม่, สังคมยั่งยืน, สิ่งแวดล้อม และวิสาหกิจชุมชนและ เอสเอ็มอี ซึ่งปีนี้มีงานวิจัยกว่า 900 ผลงาน เข้าร่วมจัดแสดงนอกจากนี้ยังจัดให้มี Research Festival ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เข้าชมงานได้มีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมกับเหล่านักวิจัยอย่างมากมาย อาทิ Research Lab -ห้องเรียนรู้การวิจัย เป็นต้น อว.โดย วช. ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนส่งเสริมนักวิจัยไทยให้ศึกษาค้นคว้าวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประเทศ อันจะช่วยพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจชาติให้ยั่งยืนต่อไป”

ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน(องค์กรมหาชน) เจ้าของผลงานวิจัย “การประยุกต์เทคโนโลยีแสงซินโครตอนในการรักษาคุณภาพทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออก” กล่าวว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนี้จะช่วยให้การส่งออกทุเรียนแกะเนื้อของประเทศมีคุณภาพ สามารถเก็บรักษาด้วยการแช่แข็งได้นานถึง 6 เดือน เมื่อนำออกมาให้คลายเย็นก็จะได้เนื้อทุเรียนที่มีเนื้อสัมและรสสัมผัสเหมือนทุเรียนสด และยังคงโภชนาการได้อย่างครบถ้วน โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ มีรับสั่งชื่นชม ว่าทรงโปรดทุเรียนแต่ยังติดเรื่องกลิ่นไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ เวลามีใครให้มาเลยไม่ค่อยได้กิน อยากจะเอาทุเรียนไทยไปฝากรัฐมนตรีที่จีน แต่ก็เอาไปไม่ได้ ถ้าสามารถแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นทุเรียนให้นำขึ้นเครื่องบินได้ก็จะดี ซึ่งรับสั่งนี้นับเป็นกำลังใจให้นักวิจัยในการที่จะสนองพระราชดำริต่อไป

รศ.ดร.สุพรรณ ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของผลงาน “จักรวาลข้าวไทย เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทาง BCG” กล่าวว่า งานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแก่ วช. ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้นำมาวิจัยและพัฒนากระบวนการแปรรูปข้าวด้วยเครื่องจักรและนวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาทิ พัฒนาเมล็ดพันธุ์เข้มแข็ง ข้าวเปลือกปลอดมอด ข้าวฮางพรีเมียม ข้าวกาบาอาร์เอส แป้งข้าวทนย่อย ข้าวไก่ชน รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ซึ่งวันนี้ได้มีโอกาสกราบบังคมทูลถวายรายงานต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 พระองค์ท่านมีรับสั่งชื่นชม และรับสั่งว่า ‘อยากทำปริญญาเรื่องข้าว แต่ตอนนี้ยังเรียนไม่ได้ ถ้ามีโอกาสก็จะศึกษาเรื่องข้าวให้ลึกซึ้งมากกว่านี้’ ในฐานะนักวิจัยเรื่องข้าวรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นกำลังใจให้เราที่จะทำงานนี้ต่ออย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงเห็นคุณค่าและความสำคัญของข้าวและงานวิจัย”

ดร.สมปราชญ์ วุฒิวัฒน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เจ้าของผลงาน ถังอ้วนอุ่น โครงการธนาคารขยะเพื่อชุมชนต้นแบบ กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องขยะภายในมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ถังอ้วนอุ่น เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษขยะอินทรีย์ในครัวเรือน สามารถนำก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซหุงต้ม สามารถลดขยะครัวเรือนได้ร้อยละร้อย ช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน และของเหลือจากการผลิตก๊าชชีวภาพก็สามารนำไปเป็นปุ๋ยบำรุงดินและต้นไม้ได้อีกด้วย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ได้ทอดพระเนตรมีรับสั่งแนะนำว่า “ถ้าสามารถพัฒนาก๊าซชีวภาพไปประยุกต์ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ด้วยจะดี และมีรับสั่งชื่นชมว่าทำได้ดี เป็นงานที่ช่วยชาวบ้านได้”

สุรีรัตน์ ณ วิเชียร สถาบันบรมราชชนก หนึ่งในนักวิจัยเรื่อง ผลของชุดเพลงผสมคลื่น Binaural และ Superimposed beats ต่อการควบคุมความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ : การศึกษาแบบกึ่งทดลอง กล่าวว่า ชุดเพลงนี้จะประกอบด้วยเสียงดนตรียาวต่อเนื่อง 30 นาที ทำนองเพลงช้า ระดับเสียงสูงปานกลางถึงต่ำ เสียงเบา โดยใช้ความถี่บีตส์ 2 ชนิด คือ Binaural และ Superimposed beats เมื่อได้ฟังต่อเนื่องวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ผู้ฟังมีความผ่อนคลาย เมื่อได้ฟังเป็นประจำจะช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ เมื่อมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทอดพระเนตร มีรับสั่งว่า คนเป็นความดันโลหิตสูงเยอะ แต่เราเป็นความดันต่ำ จะใช้คลื่นนี้ได้ไหม จะต้องพัฒนาคลื่นเสียงให้เร้าใจขึ้นหรือไม่เพื่อช่วยเพิ่มความดันโลหิต จึงได้กราบทูลว่า มีทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอีกชุดหนึ่งที่ได้ทำงานวิจัยเรื่องคลื่นเสียงที่จะช่วยความดันโลหิตต่ำ”

“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ภายในงาน ประกอบด้วย ภาคการประชุมและสัมมนาหลากหลายประเด็นกว่า 150 เรื่อง ภาคนิทรรศการประกอบด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ อาทิ นิทรรศการศาสตร์และศิลป์งานวิจัย นิทรรศการเครือข่ายวิจัยภูมิภาค นิทรรศการ Research Festival งานวิจัยขายได้ นิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา การจัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติคุณนักวิจัย ประกอบด้วย นักวิจัยศักยภาพสูง ศาตราจารย์วิจัยดีเด่น และ เมธีวิจัยอาวุโส วช.เป็นต้น
“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค. สำหรับผู้ที่สนใจผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย สามารถค้นหาสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518

0 Shares

นักวิจัย มจธ. ค้นพบ กลิ่นรส ‘ช็อกโกเลต’ โดยสกัดโปรตีนจากกากงาด้วยโบรมิเลน ช่วยให้การกินงาง่ายขึ้น เป็นโปรตีนพืชทางเลือกใหม่สำหรับคนรักสุขภาพ

นักวิจัย มจธ. ค้นพบ กลิ่นรส ‘ช็อกโกเลต’ โดยสกัดโปรตีนจากกากงาด้วยโบรมิเลน ช่วยให้การกินงาง่ายขึ้น เป็นโปรตีนพืชทางเลือกใหม่สำหรับคนรักสุขภาพ

ร่างกายมนุษย์ต้องการโปรตีนเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่สำหรับคนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ หรือคนที่แพ้นมวัว การเติมโปรตีนให้ร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ปัจจุบันได้มีการสกัดโปรตีนจากพืช ( Plant-based Protein ) ตระกูลถั่วและธัญพืชต่างๆ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าว ลูกเดือย งา เมล็ดแปะก๊วย เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ เพื่อเป็นโปรตีนทางเลือกใหม่ของคนรักสุขภาพ และคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ ประโยชน์จากโปรตีนพืช นอกจากได้โปรตีนช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อแล้ว ยังมีกากใยอาหารสูง เสริมเรื่องระบบการขับถ่าย ดูดซึมง่าย ไม่มีคอเลสเตอรอลหรือไขมันเลวให้กังวลใจ ที่สำคัญเป็นการเพิ่มมูลค่าและช่วยลดปริมาณกากของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชลงได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงลดการนำเข้าพืชจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน

รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ ประธานหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวเคมี คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแปรรูปและเกษตรอาหารเชิงหน้าที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสกัดสารจากพืช และรับผิดชอบด้านวิทยาศาสตร์สารให้กลิ่นรส สารสกัดและสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ กล่าวว่า ปัจจุบันคนหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น ซึ่งมีพืชหลายชนิดที่มีโปรตีนสูง อาทิ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชต่างๆ รวมถึงข้าวบางชนิด ปัจจุบันโปรตีนจากพืช สามารถสกัดให้มีปริมาณโปรตีนสูงขึ้น เป็นโปรตีนทางเลือกสำหรับกลุ่มของคนรักสุขภาพ และกลุ่มคนที่แพ้นมวัว รวมถึงคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์

เรื่องการสกัดโปรตีนจากพืชนั้น มจธ.ถือเป็นมหาวิทยาลัยอันดับแรกๆ ของประเทศที่ได้ทำการศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยได้คิดค้นและพัฒนาการสกัด โปรตีนไฮโดรไลเซท(Protein hydrolysates) จากแหล่งโปรตีนพืช อาทิ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าว เมล็ดทานตะวัน สาหร่ายผมนาง เห็ด และ งา โดยนำโปรตีนคอนเซนเทรด (Protein concentrates ) และโปรตีนไอโซเลท (Protein isolates) มาผ่านกระบวนการย่อยสลายด้วยเอนไซม์ (Enzymatic hydrolysis) ซึ่งเป็น Green Technology แบบใหม่ ที่สามารถย่อยสลายโมเลกุลหรือพันธะโปรตีนให้มีขนาดที่เล็กลง จนอยู่ในระดับเพปไทด์และกรดอะมิโน มีสมบัติที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดีและออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการยื่นขอจดสิทธิบัตรผลงานทั้งหมดไว้เรียบร้อยแล้ว

รศ.ดร.ณัฎฐา กล่าวเพิ่มเติมถึงโปรตีนไฮโดรไลเซท (Protein hydrolysates) ว่า ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของโปรตีนไฮโดรไลเซทที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านอาหารเชิงฟังก์ชันกันอย่างแพร่หลายรวมถึงชนิดของแหล่งโปรตีน วิธีการในการย่อย และสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งพบว่า ยังมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพ ทั้งช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคบางชนิด ได้แก่ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ควบคุมความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด ลดการอยากอาหาร และยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค รวมทั้งป้องกันการเกิดมะเร็ง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคกระดูกพรุน ลดโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการใช้เอนไซม์ในการไฮโดรไลซ์ มีเอนไซม์หลายชนิด เอนไซม์แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน รวมถึงโบรมิเลน (bromelain) เป็นเอนไซม์ในกลุ่มซีสเตอีน โปรติเอส (Cysteine protease) ที่พบในสับปะรด ซึ่งเป็นพืชที่ประเทศไทยนิยมปลูก สามารถปลูกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีประสิทธิภาพสูง และข้อดีของโบรมิเลนจากสับปะรด คือ สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก และยังให้กลิ่นรสที่ดีอีกด้วย


รศ.ดร.อรพิน เกิดชูชื่น หนึ่งในคณะวิจัยฯ กล่าวเสริมว่า งานั้น แม้เป็นธัญพืชที่ให้น้ำมัน มีขนาดเล็ก แต่อุดมไปด้วยสารที่มีคุณค่า เป็นแหล่งของโปรตีน วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งงาถือเป็นพืชที่ทนแล้ง ต้นทุนการผลิตต่ำ และเป็นมิตรกับผึ้ง สามารถผสมเกสรตัวเองได้ ใช้เป็น Plant-based Protein หรือ โปรตีนจากพืชได้ เพราะมีวิตามิน D และแคลเซียมสูง เป็นที่ต้องการของตลาด แต่มีความยากในการสกัด จึงเป็นที่มาของ “กรรมวิธีการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซทกากงาใช้เป็นอาหารสุขภาพ” โดยทีมวิจัยฯ เลือกการไฮโดรไลซ์งา โดยใช้โบรมิเลน (bromelain) จากสับปะรดมาสกัดโปรตีน ที่นอกจากได้กรดอะมิโนที่ดี และสารเพปไทด์ที่มีสมบัติดูดซึมได้ง่ายและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังพบว่า โปรตีนสกัดจากกากงาด้วยสับปะรด ทำให้ได้กลิ่นรสเฉพาะตัวที่เหมือนช็อกโกเลต ซึ่งไม่พบในธัญพืชชนิดอื่น

“เรานำกากงาที่เหลือจากการสกัดน้ำมันออกหมดแล้ว มาย่อยโดยการใช้โบรมิเลนจากสับปะรด หลังจากนั้นได้นำโปรตีนไฮโดรไลเซท (Protein hydrolysates) ที่ได้จากการย่อยโปรตีน มาพัฒนาทำเป็น ‘ผง’ เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ ช่วยเพิ่มความสามารถในการละลาย หรือการทำให้เกิดโฟมหรือฟอง และนำไปเป็นสารปรุงแต่งกลิ่นรส (Processed flavor ) เนื่องจากโปรตีนไฮโดรไลเซทจากงา เป็นสารที่ให้กลิ่นรสที่ดีมีความเฉพาะตัว นอกจากนั้นยังมีประสิทธิภาพในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ช่วยยับยั้งไขมันและการเกิดออกซิเดชัน (Oxidation) ได้ดี” ดร. รัชฎาภรณ์ คะประสบ กล่าว

รศ.ดร.ณัฎฐา กล่าวอีกว่า แม้ว่างามีแคลเซียมสูง แต่มีกรดออกซาลิก (oxalic acid) อยู่มาก ทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ไม่ดี เพราะฉะนั้น การกินงาดิบจึงไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อนำมาไฮโดรไลซ์แล้ว ทำให้กรดออกซาลิกลดลง แคลเซียมที่ได้สูงขึ้น และมีกลิ่นที่ดีขึ้น นำมาพัฒนาทำเป็นผง สามารถชงดื่มได้ทันที หรือเติมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่น ช็อกโกแลตหรือขนมอบ ทำให้ได้กลิ่นที่ดี ซึ่งช่วยทำให้คนรับประทานงาได้มากขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะนำไปต่อยอดในการผลิตนมจากกากงา ที่มีกลิ่นและรสเหมือนช็อกโกแลต และมีกรดอะมิโนที่ดี เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับคนที่แพ้นมวัว และคนไม่ทานเนื้อสัตว์ที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมงาดำที่มีอยู่ในท้องตลาด ไม่ได้ทำมาจากโปรตีนพืชร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่โปรตีนไฮโดรไลเซทที่เราผลิต สามารถดึงโปรตีนเป็นแพลนต์เบส โปรตีนไฮโดรไลเซท (Plant based Protein hydrolysates) จากงาออกมาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากคิดค้นและพัฒนาการสกัดโปรตีนพืชด้วยกระบวนการย่อยสลายด้วยเอนไซม์ แล้ว ล่าสุดทางทีมวิจัยฯ ยังได้มีการพัฒนาเครื่องสกัดโปรตีนพืชด้วยไฮโดรไลเซท ( Application of protein hydrolysate as bio-stimulant) เป็นระบบ continuous หรือ กึ่งอัตโนมัติ ขนาด 250 ลิตร สามารถย่อยโปรตีนได้อย่างรวดเร็วภายใน 2-3 ชั่วโมง เพื่อรองรับกับความต้องการจำนวนมาก


ถือเป็นการทำงานร่วมกับบริษัทเอกชน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งเครื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร สำหรับผลงานทางด้านโปรตีนไฮโดรไลเซท ( protein hydrolysate ) และการคิดค้นการสกัดโปรตีนจากพืชของคณะวิจัยจากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. นับเป็นผลงานที่นอกจากเพิ่มมูลค่าให้กับพืชของไทยและลดเศษของเหลือทิ้งในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ.

0 Shares