พระสมุหวรคณิสสรสิทธิการ ให้ข้อคิด “ศรัทธาที่ยั่งยืน” บนเวทีเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ

พระสมุหวรคณิสสรสิทธิการ ให้ข้อคิด “ศรัทธาที่ยั่งยืน” บนเวทีเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ

มนุษย์ทุกคนเกิดมาต่างมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อความศรัทธาเป็นปัจเจก แต่ความศรัทธานั้นจะศรัทธาอย่างไรให้ถูกให้ควร ศรัทธาอย่างไรให้เกิดผลดี พระสมุหวรคณิสสรสิทธิการ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ฯ กรุงเทพ ฯ ได้เมตตามาแสดงธรรมบรรยาย ในหัวข้อ “ศรัทธาที่ยั่งยืน” บนเวที เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่น จัดโดย พุทธปัญญาชมรม บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่

พระสมุหวรคณิสสรสิทธิการ เริ่มกล่าวว่า ศรัทธาเป็นเรื่องแรกของทุกศาสนา ถ้าคนเราหมดศรัทธาแล้วไม่ต้องพูดกันเลย แต่พอมีศรัทธาแล้วนั้น เท่าไหร่ก็เท่ากัน สร้างเจดีย์ใหญ่ ๆ สร้างวัดร้อยล้าน พันล้าน สร้างทุกสิ่งทุกอย่างได้ก็เกิดจากศรัทธาทั้งนั้น แต่ถ้าเราไม่มีศรัทธาสตางค์แดงเดียวก็ไม่ให้ บางคนพอมีศรัทธาก็ให้หมดเลย ทุ่มหมดเลย ทุ่มจนหมดเนื้อหมดตัว ทุ่มจนลืมตัวก็มี ทุ่มจนลืมครอบครัวก็มี ดังนั้นเราอย่าไปลืมตัว อย่าลืมครอบครัว อย่าไปหลงสิ่งอื่นจนลืมครอบครัว ผลสุดท้ายมันจะวุ่นวายกันไปหมด

ท่านอธิบายว่าในทางพระพุทธศาสนามีศรัทธาสองประเภทคือ ศรัทธา 2 และศรัทธา 4

ประเภทแรก ศรัทธา (สทฺธา) 2 อย่าง คือ ศรัทธาอย่างที่หนึ่ง สทฺธาญาณสมฺปยุตฺต ถึงพร้อมด้วยปัญญา บางคน บางศาสนา ก็ศรัทธาเหลวไหล ศรัทธาไม่รู้เรื่อง ฟังเขาพูดแล้วก็ศรัทธา ไม่สนใจว่ามีเหตุมีผลหรือไม่ ต้องศรัทธาไว้ก่อน อันนั้นก็ไม่ว่ากันมันก็เป็นธรรมดา แต่พระพุทธศาสนาของเรานี้ ศรัทธาแบบนั้นไม่ได้ ศรัทธาต้องมีปัญญาประกอบเรียกว่า สัทธาญาณสัมปยุต ส่วนศรัทธาอย่างที่สอง สทฺธาญาณวิปฺปยุตฺต ศรัทธาที่ไม่มีปัญญา ศรัทธาโง่เง่า ศรัทธาหัวปลักหัวปลำ ศรัทธามิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด พวกมิจฉาทิฏฐิตายไปก็ตกนรกหมด

ศรัทธา 2 ประเภทนี้ เปรียบเหมือนกับเรือมีหางเสือ กับเรือไม่มีหางเสือ เรือมีหางเสือมันจะไปทางไหนก็แล่นไปได้ จะไปทางเหนือก็หันหัวไปทางเหนือ ไปทางใต้ก็หันหัวไปทางใต้ แต่เรือที่ไม่มีหางเสือหันหัวไปทางเหนือมันก็หันกลับมาทางใต้ พอหันหัวไปทางใต้มันก็หันกลับมาทางเหนือเหมือนเดิม แล้วสุดท้ายมันก็ไม่ไปถึงไหน ฉันใดก็ฉันนั้นคนไม่มีปัญญาเป็นอย่างนั้น เหมือนพายเรืออยู่ในอ่างไม่ได้เจอนิพพานสักที

ประเภทที่สอง ศรัทธา (สทฺธา) 4 อย่าง คือ อย่างที่หนึ่ง คือ กมฺมสทฺธา เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก” สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม คนเรามันไม่เหมือนกัน พี่น้องท้องเดียวกันบางคนก็ไม่เหมือนกัน คนหนึ่งนิสัยดีชอบเข้าวัด อีกคนนี่ชวนเท่าไหร่มันก็ไม่ไป บางคนมาจากนรก บางคนมาจากสวรรค์ บางคนมาจากพรหมโลกเป็นต้น ทุกอย่างล้วนมาจากกรรม “กมฺมํ สตฺเต วิภชติ” กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ปราณีต รวย จน สวย หล่อ ขี้เหร่ สติปัญญาสูงหรือต่ำ ต้องไปอยู่ตรงนั้น ต้องไปเป็นอย่างนี้เพราะกรรมจำแนกไว้หมดแล้ว

อย่างที่สอง กมฺมวิปากสทฺธา เชื่อเรื่องผลแห่งกรรม ใครทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กรรมดี กรรมชั่ว แยกกันไว้หมด ส่งผลกับเราทั้งหมด เชื่อเรื่องวิบากกรรม ผลกรรมที่จะได้รับ

อย่างที่สาม กมฺมสกตาสทฺธา เชื่อว่าเรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน กรรมของใครก็ของมัน ผัวทำก็ผัวได้ เมียทำก็เมียได้ ต่างคนก็ต่างกันไปแต่มีกรรมเกี่ยวเนื่องมีกรรมสืบต่อกัน เรื่องกรรมมันซับซ้อน แต่มันแก้ไม่ได้จะไปทำพิธีแก้กรรมอะไรต่าง ๆ มันก็ทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า แก้กรรมต้องแก้ด้วยมรรคมีองค์ 8 ศีล สมาธิ ปัญญา สิ่งเหล่านี้ถึงจะแก้กรรมได้

และอย่างสุดท้าย ตถาคตโพธิสทฺธา เชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อแบบไม่ได้บังคับให้เชื่อ “อกฺขาตาโร ตถาคตา” ตถาคต (พระพุทธเจ้า) เป็นเพียงผู้บอก จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่เราเป็นผู้พิจารณา ใช้การพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลไม่ได้บังคับให้เชื่อ ไม่เหมือนกับศาสนาอื่น ๆ หรือบางศาสนา

หลวงพ่อสรุปเรื่องของศรัทธาว่ามีอย่างที่กล่าวมาแบบนี้เป็นต้น อยู่ที่ว่าเราจะมีศรัทธาอย่างไรกันบ้าง แล้วมันจะเป็นศรัทธาที่ยั่งยืนอย่างไรก็อยู่ที่ตัวเราจะเชื่อจะศรัทธา

พบกับกิจกรรมเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 12.00-13.30 น. ผ่านช่องทาง facebook fanpage CPALL หรือสามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ช่องทางเดียวกัน พร้อมรับฟังคติธรรมดีๆ ในช่องทาง TikTok ได้ที่ ธรรมะ TikTok

0 Shares

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *