”สว.สถิตย์” จัดเต็มซักฟอกรัฐบาล 5 ด้าน ในการประชุมวุฒิสภา

”สว.สถิตย์” จัดเต็มซักฟอกรัฐบาล 5 ด้าน ในการประชุมวุฒิสภา

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. วาระการเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 153 โดยนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายให้รัฐบาลแถลงข้อเท็จจริง 5 ด้าน
​ด้านแรก การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

สว.สถิตย์ ได้แสดงข้อเท็จจริงว่า เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น คือ ร้อยละ 3.5 โดยชี้ให้เห็นว่าการลงทุนที่ผ่านมาเป็นยักษ์หลับในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเห็นได้จาก สัดส่วนการลงทุนในงบประมาณ และสัดส่วนการลงทุนรวมใน GDP ไม่เพียงพอ อีกทั้งด้านการส่งออก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งปรากฏว่าสินค้าส่งออก กลายเป็นเครื่องจักรเก่าทางเศรษฐกิจเป็นสินค้าล้าสมัยไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดโลกในปัจจุบัน ในขณะที่รัฐบาลมี “นโยบายจะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ”

​สว.สถิตย์ได้ตั้งคำถามว่า “รัฐบาลจะมีนโยบายเชิงโครงสร้าง ทำให้เศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพ หรือมากกว่านั้นได้อย่างไร”

​ด้านที่ 2 การเติบโตอย่างทั่วถึง
สว.สถิตย์ ได้อภิปรายว่า การเติบโตที่ดี ต้องเป็นธรรมและทั่วถึง ทั้งมิติค่าสัมประสิทธิ์ความเสมอภาค มิติรายได้ มิติรายจ่าย และมิติเชิงพื้นที่ซึ่ง 15 จังหวัดขนาดใหญ่มีสัดส่วนใน GDP ถึงร้อยละ 70 ขณะที่อีก 62 จังหวัดที่เหลือ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 นอกจากนี้ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง ระเบียงฯภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง-ภาคตะวันตก และภาคใต้ ยังขาดการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ในขณะที่รัฐบาลมี “นโยบายจะพัฒนาพื้นที่ และเมืองให้เกิดการกระจายความเจริญ และกิจกรรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค”
สว.สถิตย์ได้ตั้งคำถามกับประเด็นนี้ว่า “รัฐบาลจะมีเป้าหมาย ในการลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ให้กับ 62 จังหวัดที่เติบโตน้อยได้อย่างไร” และ “ใน 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลได้ “ดำเนินการผลักดันการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคอย่างไร และมีแผนที่จะดำเนินการต่อไปอย่างไร”
ในเรื่องการกระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีเป้าหมายให้สัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้อยละ 35 ของรายได้รัฐบาล แต่การจัดสรรรายได้ใน 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยเพียงร้อยละ 29 ในขณะที่รัฐบาลมี “นโยบายจะกระจายอำนาจเพื่อสร้างประสิทธิภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่”

นายสถิตย์ตั้งคำถามว่า “รัฐบาลมีนโยบายและแผนที่จะจัดสรรรายได้ท้องถิ่นให้ถึงร้อยละ 35 ของรายได้รัฐบาลหรือไม่ อย่างไร”
​ด้านที่ 3 ซอฟต์พาวเวอร์
สว.สถิตย์ ให้ข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขาได้แก่ อาหาร, แฟชั่น, การออกแบบ, ศิลปะ, หนังสือ, ภาพยนตร์, เฟสติวัล, ดนตรี, ท่องเที่ยว, กีฬา และเกมส์ จัดแบ่งเป็น 54 โครงการ งบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท โดยมีเป้าหมายสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้ 200,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี
สว.สถิตย์ ได้อภิปรายว่า ซอฟต์พาวเวอร์ตามตำรามี 3 เรื่อง คือ ค่านิยมการเมือง นโยบายต่างประเทศ และวัฒนธรรม ประเทศไทยคงต้องเน้นหนักไปทางด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อโน้มน้าวจูงใจให้ประเทศอื่นคล้อยตามโดยสมัครใจ อันเป็นลักษณะของซอฟต์พาวเวอร์หรืออำนาจนุ่มนวลที่ไม่ต้องใช้กำลังทหาร หรือการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ อย่างเช่นอำนาจแข็งกร้าว หรือฮาร์ดพาวเวอร์
สำหรับ 11 สาขาที่รัฐบาลจำแนกไว้ต้องมองโดยรวมอย่างบูรณาการเพื่อสะท้อน “ความเป็นไทย” ให้ประเทศอื่นหลงใหลยอมทำตามสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของไทย โดยไม่ต้องบังคับ เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่นที่ส่งเสริม Cool Japan ไม่ว่าจะเป็นอาหาร แฟชั่น ภาพยนตร์ ก็อยู่ในธีมของ Cool Japan หรือเกาหลีที่เน้นธีม Korean Wave หรือคลื่นเกาหลี ไม่ว่าจะเป็น K-Drama K-Pop K-Culture ด้วยเหตุนี้ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยจะต้องมุ่งเน้นไปที่ “ความเป็นไทย” ส่วน 11 สาขา เป็นเพียงองค์ประกอบ

สว.สถิตย์อภิปรายต่อว่า รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะจัดตั้งองค์กรคอนเทนต์ที่เรียกว่า THACCA โดยให้ข้อคิดเห็นว่าต้องเป็นองค์กรในการพัฒนาระบบนิเวศน์ ทั้งในเรื่องการปลดปล่อยกฏระเบียบ การส่งเสริมเทคโนโลยี การพัฒนากองทุน การร่วมมือกับภาคเอกชน และการส่งออกวัฒนธรรม
สว.สถิตย์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ซอฟต์พาวเวอร์ คือ หนทางในการนำทุนทางวัฒนธรรมไปสู่ความสำเร็จในเวทีโลก พัฒนาวัฒนธรรมไทยให้มีความเป็นสากลระดับโลก เอารสนิยมความต้องการตลาดโลกเป็นที่ตั้ง และปรับความเป็นไทยให้สอดคล้องกับตลาดโลก ต้องตั้งเป้าหมายการส่งออกวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้เป็นรายได้หลักของประเทศ ต้องทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ ของไทยโดดเด่นในโลกท่ามกลางคู่แข่งที่สำคัญ ในขณะที่รัฐบาลมี “นโยบายจะสร้างพลังสร้างสรรค์หรือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศและสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์”
​สว.สถิตย์ตั้งคำถามว่า “รัฐบาลมีนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ในการบูรณาการนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขาอย่างไร และได้มีการพัฒนาทักษะ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ไปแล้วมากน้อยเพียงใด ผ่านกลไก หรือหน่วยงานใด และรัฐบาลจะดำเนินการจัดตั้ง THACCA เมื่อใด โดยวิธีการใด”
ด้านที่ 4 รัฐบาลดิจิทัล
สว.สถิตย์อภิปรายว่า ดิจิทัลเทคโนโลยี คือพลังเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว สร้างโอกาสมหาศาลให้กับรัฐบาลทั่วโลก สร้างความมั่งคงให้ประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ ในขณะเดียวกันก็ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่รัฐบาลต้องผลักดัน คือ บัตรประชาชนดิจิทัลและเป็นบัตรเดียวที่ใช้ยืนยันตัวตน ในการติดต่อรับบริการภาครัฐ ทั้งสวัสดิการ การเงิน สุขภาพ การศึกษา การเดินทาง เป็นต้น
ในเรื่องการใช้คลาวด์ รัฐบาลต้องผลักดันแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ของภาครัฐ ให้เป็นแพลตฟอร์มการทำงานยุคใหม่บนคลาวด์ และจะต้องให้แต่ละกระทรวงมีศูนย์กลางคลาวด์ที่เดียว ส่วนหน่วยงานเล็กๆ ให้รวมที่คลาวด์กลางของรัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพ และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลงไปได้มาก นอกจากนี้ ควรจะรวมสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลดิจิทัลทั้งหมดมาไว้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่รัฐบาลมี “นโยบายจะนำเอาเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน”
​สว.สถิตย์ตั้งคำถามว่า “รัฐบาลจะผลักดันการใช้ดิจิทัลไอดี ให้ครบถ้วนทุกหน่วยงานภาครัฐ เมื่อใด อย่างไร และจะผลักดันให้บูรณาการ การใช้คลาวด์หรือไม่ อย่างไร และจะรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลมาไว้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ อย่างไร”
​ด้านที่ 5 การพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
สว.สถิตย์ ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางของประเทศต่างๆว่า อิตาลี ใช้อุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยว และ SME ไต้หวัน เน้นอุตสาหกรรมไฮเทค และSME ส่วนเกาหลี จากอุตสาหกรรมหนักไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านมาเลเซียมีวิสัยทัศน์ 2020 ใช้อุตสาหกรรมไฮเทคเป็นตัวนำ เวียดนามและอินโดนีเซีย ประกาศจะพ้นกับดักรายได้ปานกลางในปี ค.ศ. 2045 ครบ 100 ปี หลังจากได้รับเอกราช ส่วนประเทศไทย แต่เดิมมีวิสัยทัศน์จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางในปี พ.ศ. 2580 แต่มาสะดุดกับสถานการณ์โควิด-19 คงต้องขยายเวลาออกไป
​สว.สถิตย์ได้ตั้งคำถามว่า “รัฐบาลจะมีวิสัยทัศน์ และเป้าหมาย ในการทำให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางหรือไม่ อย่างไร และเมื่อใด”

0 Shares

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *