ประสานจีนช่วยเกษตรไทย
ส่งเสริมด้านทุน เทคโนโลยี และการตลาด
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และนายชนศวรรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ เลขานุการคณะกรรมาธิการ ได้ให้การต้อนรับและพบปะหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับคณะผู้แทนนักธุรกิจจีนเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของคณะผู้มาเยือนประกอบด้วย
1. Mr. Qiao Yong ตำแหน่ง Secretary of Alumni Entrepreneur Council, Tongji University
2. Mr. Wang Chunhai ตำแหน่ง 1) Co-founder and VP of Shanghai Longbo Business Consulting Service Co., LTD 2) Chairman of Shanghai Ruilong Automobile Technology Co., LTD 3) Secretary of Shanghai Public Companies Association
3. Dr. Ma Ningjia ตำแหน่ง Vice President Thai-Chinese Commerce Association
4. น.ส.อัญชิษฐา อิฐรัตน์ ผู้ช่วย Dr. Ma Ningjia
ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวต้อนรับคณะผู้มาเยือน และกล่าวสรุปถึงแนวทางการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ว่า “คณะกรรมาธิการฯ มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ที่มีพื้นที่ทางการเกษตรอยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน ที่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 78 ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี 365 วัน โดยใช้นวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์ที่มีราคาถูก ก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้เผยแพร่ความรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคประชาสังคมที่มีความสนใจ ซึ่งในช่วงแรกงบประมาณที่ อปท. ใช้ในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ ส่วนหนึ่งจะเป็นงบประมาณของ อปท. เอง และงบประมาณ CSR รวมทั้งเงินที่ชาวบ้านรวบรวมกันมาเอง“
“เมื่อเกษตรกรมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอแล้ว คณะกรรมาธิการฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชราคาสูงที่เป็นความต้องการของตลาด ทำการเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี ส่งเสริมด้านการตลาดโดยการนำสินค้าเข้าสู่ระบบโมเดิร์นเทรด รวมทั้งต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวชีวภาพ (Bio Tourism) โดยให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์มากที่สุด เช่น การขายผลิตภัณฑ์โดยตรง และการเปิดโฮมสเตย์ เป็นต้น
”นอกจากการแสวงหาความรู้และแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนจากภายในประเทศแล้ว คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานการขจัดปัญหาความยากจนที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและมณฑลยูนนานของประเทศจีนในเดือนพ.ค. 2566 และในช่วงเดือนพ.ค. 2567 คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการปราบปรามการคอร์รัปชันและการขจัดปัญหาความยากจนของประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งทำให้คณะกรรมาธิการฯ ได้รับความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่าเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทยต่อไป และเมื่อการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ สิ้นสุดลง จะมีการจัดตั้ง “มูลนิธิแก้จน” เพื่อสานงานของคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป“
”จากการเดินทางไปประชุมทวิภาคีและศึกษาดูงานการขจัดปัญหาความยากจนที่ประเทศจีน ทำให้เห็นว่าภาคธุรกิจของจีนนั้น มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขจัดปัญหาความยากจนในประเทศจีน เพราะภาคธุรกิจจีนไม่ใช่แค่ต้องการเพียงกำไร แต่ยังประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงด้าน คุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและแสดงความรักต่อประเทศชาติอีกด้วย“ นายสังศิตกล่าว
Mr. Qiao Yong กล่าวขอบคุณประธานคณะกรรมาธิการฯ และกล่าวว่า ตนในฐานะเลขานุการสมาคมนักธุรกิจศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยถงจี้ มหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และผู้ร่วมก่อตั้ง Shanghai Longbo Business Consulting Service Co., LTD ดำเนินธุรกิจในด้านการให้คำปรึกษากับบริษัทและนักธุรกิจจีนที่จะออกไปลงทุนในที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งการเดินทางมาประเทศไทยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการเข้าพบหารือกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เช่น BOI สมาคมการค้า และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้นักธุรกิจที่สนใจเข้ามาหาข้อมูล และถ้าเห็นข้อมูลแล้วมีความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในด้านใด ทางบริษัทจะดำเนินการประสานงานเพื่อให้เกิดการพบปะหารือในรายละเอียดต่อไป
Mr. Qiao Yong ได้แสดงความสนใจเกี่ยวกับการกักเก็บน้ำด้วยนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์และการดำเนินงานของ “มูลนิธิแก้จน” ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้
1. ตามที่กล่าวมาข้างต้น ฝายแกนดินซีเมนต์ 1) ราคาถูก 2) ก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว และ 3) มีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ
ที่ฝายมีราคาถูก เพราะใช้ปูนซีเมนต์ผสมกับดินในพื้นที่ในอัตราส่วน 1 : 10-30 มูลค่าการก่อสร้างส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ราคาปูนซีเมนต์และค่าน้ำมัน ค่าเครื่องจักร ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนกรณีฝายขนาดเล็กจะใช้แรงงานคนในท้องถิ่นและใช้เวลาสร้างไม่ถึงครึ่งวัน มีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำเนื่องจากมีการฝังแกนดินลึกลงไปเป็น 2 เท่าของความสูงของฝาย และฝังแกนดินเข้าไปในตลิ่งทั้งสองข้าง จึงทำให้น้ำซึมผ่านได้ยากและน้ำไม่สามารถงัดฝายให้พังได้
การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ในการเผยแพร่นวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์ให้แก่องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะ อปท. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝายแกนดินซีเมนต์กระจายอยู่ในทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสานมากกว่า 1,000 ฝาย และเห็นว่านวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์สามารถนำไปปรับใช้ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศที่คล้ายกันได้เป็นอย่างดี
2. ในส่วนของการจัดตั้ง “มูลนิธิแก้จน” นั้น เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนต่อยอดจากการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ มูลนิธิแก้จนจะพึ่งพาตนเองโดยการหารายได้จากการจัดตั้งบริษัทหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม แล้วนำรายได้ดังกล่าวมาบริจาคให้ทางมูลนิธิแก้จนไปดำเนินการในด้านสาธารณะประโยชน์ แต่มูลนิธิแก้จนยังยินดีรับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนต่อไปด้วย
Mr. Qiao Yong ชื่นชมการดำเนินการดังกล่าว และจะนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ประชาสัมพันธ์ให้นักธุรกิจในประเทศจีนได้รับทราบเพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนต่อไป
Mr. Wang Chunhai ได้กล่าวว่า Shanghai Ruilong Automobile Technology Co., LTD เป็นบริษัทที่เกี่ยวกับการออกแบบและการประกอบรถยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังมองหาลู่ทางการขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศ และจากความสัมพันธ์ที่ดีและยาวนานระหว่างไทยและจีน รวมทั้งปัจจัยความพร้อมด้านอื่นๆ ของไทย ทำให้มีโอกาสที่ผู้ประกอบการจีนจะมาลงทุนที่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ในส่วนของการขจัดปัญหาความยากจนในประเทศจีนนั้น ทางสมาคมนักธุรกิจศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยถงจี้ ได้มีส่วนร่วมโดยการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใช้พัฒนาด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากจีนมีพื้นที่ทางการเกษตรไม่มาก นอกจากนั้น ทางบริษัท Shanghai Ruilong Automobile Technology Co., LTD ยังได้ออกแบบยานพาหนะและเครื่องมือเพื่อใช้ในการเกษตรในราคาที่เกษตรกรมีกำลังซื้อได้ ซึ่งการขจัดปัญหาความยากจนของจีนนั้น เริ่มต้นด้วย 1) การบรรเทาปัญหาความยากจน 2) การขจัดความยากจน เมื่อขจัดความยากจนได้แล้ว แต่ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม ก็จะพัฒนาภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มรายได้และผลตอบแทนให้มากยิ่งขึ้น
ถ้ามีโอกาสที่นักธุรกิจจีนจากการแนะนำของทางสมาคมได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมไทยในด้านสาธารณะประโยชน์ตามแนวทางของคณะกรรมาธิการฯ หรือมูลนิธิแก้จน เช่น การสนับสนุนการทำฝายแกนดินซีเมนต์ เป็นต้น
ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวว่า การพบหารือกับคณะผู้แทนนักธุรกิจจีนในครั้งนี้ หวังว่าจะได้มีแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมให้นักธุรกิจชาวจีนมาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการเกษตร เพราะประเทศไทยมีพื้นที่ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากประเทศจีน สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดแคลนและมีความต้องการคือ 1) ทุน 2) เทคโนโลยี และ 3) การตลาด ประเทศไทยสามารถเป็นฐานการผลิตส่วนหนึ่งในการผลิตพืชผลทางการเกษตรป้อนตลาดจีนได้ ซึ่งควรเป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีความปลอดภัยกับทั้งเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย และหวังว่าจะได้มีความร่วมมือกันในอนาคตอันใกล้นี้
ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า “ ระบบการทำการเกษตรในประเทศไทยในภาพรวมมีความอ่อนแอและล้าหลัง การผลิตจำนวนมากยังเป็นการทำการเกษตรขนาดเล็ก เป็นการผลิตที่ซ้ำซาก มีการใช้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการเพิ่มผลผลิตน้อย และขาดแคลนอุตสาหกรรมแปรรูปในพื้นที่ ดังนั้นการบรรเทาปัญหาความยากจนและการแก้ปัญหาความยากจนของไทย นอกเหนือจากตัวเกษตรกรที่ต้องมีทัศนคติเรื่องความขยันขันแข็ง การทำงานหนัก และการพึ่งพิงตนเองแล้ว ยังต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และ ที่สำคัญคือต้องอาศัยสถาบันด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยและนักธุรกิจไทยเข้าร่วมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งด้วย นอกจากนี้ เราควรสนใจในการเพิ่มบทบาทของนักธุรกิจจากต่างประเทศ ให้มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน หากเราสามารถแสวงหาความร่วมมือจากธุรกิจต่างประเทศที่สนใจลงทุนด้านการเกษตร สมัยใหม่ที่จะมาทำงานกับกลุ่มเกษตรกรของไทยบนพื้นฐานของความร่วมมืออย่างเสมอภาคกัน โดยได้รับการสนับสนุนในเรื่องของเงินทุน เมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต และตลาดส่งออก โอกาสที่เกษตรกรไทยจะลืมตาอ้าปาก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็มีความเป็นไปได้มาก”